คลัง เล็งชงขยายมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 หลักการใกล้เคียงกับเดิม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 5, 2021 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เตรียมหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในการพิจารณาการขยายมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 เนื่องจากมาตรการเฟส 1-2 จะครบกำหนดในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ว่าจะทำต่อเนื่องกันไปเลยหรือไม่ หรือจะเริ่มในช่วงเวลาใด รวมทั้งจะครอบคลุมผู้ที่ได้สิทธิเดิม 15 ล้านคนไม่ต้องมาลงทะเบียนใหม่ หรือจะเปิดลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สิทธิกับทุกคนที่อยากได้

ทั้งนี้ โครงการคนละครึ่งเฟส 3 อาจต้องแก้ไขข้อบกพร่องเดิมที่มีในเฟส 1-2 เช่น จะต้องให้สามารถใช้กับภาคบริการได้ด้วย จากเดิมที่ให้ซื้อได้เฉพาะสินค้าเท่านั้น ซึ่งจะต้องหารือกับธนาคารกรุงไทย (KTB) ก่อนว่ามีภาคบริการเข้าร่วมโครงการในฐานข้อมูลมากน้อยเพียงใด และสาเหตุที่ควรขยายมาตรการเฟส 3 ออกไป เพราะเห็นว่าต้องการรักษาแรงส่งให้เศรษฐกิจฟื้นฟูต่อไปได้ เป็นการช่วยเหลือทุกภาคส่วน ร้านค้ารายเล็ก ทั้งสินค้าและบริการกว่า 2 ล้านราย เพื่อให้มีส่วนร่วมช่วยกันจับจ่ายใช้สอยคนละครึ่งกับรัฐบาล

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับวงเงินที่จะให้เบื้องต้น คาดว่าจะไม่ได้ให้ 3,500 บาท เหมือนเฟส 2 ซึ่งอาจจะน้อยเกินไป แต่หากจะให้รายละ 3,000-3,500 บาท นาน 3 เดือน ต้องดูว่ามีเงินเหลือพอหรือไม่ ซึ่งตอนนี้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนวงเงินเยียวยา 5.5 แสนล้านบาท ใช้ไปเกือบหมดแล้ว จึงเหลือวงเงินในส่วนฟื้นฟูอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท ที่จะนำมาใช้ได้ ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายว่าจะจ่ายเท่าไร จึงจะเหมาะสม

"ตอนนี้ต้องออกแบบโครงการให้ชัดเจนก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ถ้าฝ่ายนโยบายเห็นว่า จะไม่มีโครงการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ ออกมา ก็สามารถเสนอโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ได้ ซึ่งหลักการต้องใกล้เคียงกับของเดิม แต่จะดูเวลาที่เหมาะสม ว่าจะให้ต่อเนื่องไปเลย หรือจะเว้นช่วงไว้ แล้วจะให้สิทธิกี่คน จำเป็นต้อง 15 ล้านคนไหม หรือจะให้ 30 ล้านคนเท่าเราชนะ แต่ถ้าถามใจคือ ใครอยากได้ต้องได้หมด" ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว

ส่วนข้อเสนอของนายสุพัฒนพงษ์ ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% เพื่อจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยนั้น ต้องไปพิจารณาว่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งแล้ว อัตราภาษีไทยสูงเกินไปหรือไม่ เช่น สิงคโปร์ อยู่ที่ 18% แต่บางประเทศก็สูงกว่าไทยมาก ในมุมมองคือ ถ้าลดภาษีก็ช่วยเรื่องของการแข่งขัน จูงใจลงทุนเพิ่มขึ้นได้ แต่การเสนอต้องทำเป็นแพ็คเกจ ถ้าลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็ต้องจัดเก็บรายได้จากตัวอื่นมาทดแทนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ