นายพรชัย ฐีระเวช รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงการคลัง ด้านบริหาร ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 ภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) มีผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 935 ราย ใน 75 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (558 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (148 ราย) ภาคเหนือ (116 ราย) ภาคตะวันออก (64 ราย) และภาคใต้ (49 ราย) ตามลำดับ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 413,622 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 10,073.78 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 24,355.04 บาทต่อบัญชี ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 868 ราย ใน 75 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 818 ราย ใน 75 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 1 จังหวัด คือ จังหวัดนราธิวาส) โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (76 ราย) กรุงเทพมหานคร (61 ราย) และขอนแก่น (51 ราย)
(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 140 ราย ใน 45 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 117 ราย ใน 37 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (18 ราย) อุดรธานี (8 ราย) อุบลราชธานี (8 ราย) และกรุงเทพมหานคร (7 ราย)
(3) ภาพรวมสถานะสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 173,235 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 3,841.12 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 - 3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 24,487 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 572.38 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.90% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 28,526 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 653.94 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.02% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม