ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: กระแสคาดเฟดลดดบ. กดดอลล์ร่วงหนักสุดเทียบยูโร

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 13, 2007 07:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 ก.ย.) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงแตะระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร เพราะได้รับแรงกดดันจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และจากการแสดงความคิดเห็นของนายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐที่ว่า ภาวะผันผวนในตลาดการเงินของสหรัฐอาจจะยืดเยื้อออกไปอีก
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.3917 ดอลลาร์ต่อยูโร ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.เป็นต้นมา จากวันอังคารที่ระดับ 1.3832 ดอลลาร์ต่อยูโร
ค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันหลังจากนายพอลสันกล่าวในที่ประชุมเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังของสหรัฐว่า "ภาวะผันผวนในตลาดการเงินอาจยืดเยื้อออกไปอีก โดยจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะตลาดปล่อยกู้จำนองให้กับลูกค้ากลุ่มซับไพรม์"
ก่อนหน้านี้ ดอลลาร์อ่อนตัวลงหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขจ้างงานใหม่นอกภาคการเกษตรประจำเดือนส.ค.ลดลง 4,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2546 ซึ่งสำคัญสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขการจ้างงานลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีนั้น เป็นผลมาจากคนงานในภาคการผลิตและการก่อสร้างร่วงลงอย่างมาก
ตัวเลขจ้างงานที่ลดลงครั้งนี้ได้จุดกระแสคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นอย่างน้อย 0.25% ในการประชุมซึ่งจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 18 ก.ย.นี้ ซึ่งหากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ก็เท่ากับว่าเฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี
นายเดวิด กิลมอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทฟอเรนจ์ เอ็กซ์เชนจ์กล่าวว่า "เราคาดว่าดอลลาร์จะได้รับแรงกดดันอย่างหนักหากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้สินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์มีมูลค่าน้อยลงและไม่น่าดึงดูดใจ"
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดได้กล่าวสุนทรพจน์ที่เยอรมนีว่า สหรัฐอเมริกาและประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านการค้าและการลงทุนทั่วโลก ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีเสถียรภาพ
ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ เบอร์นันเก้ไม่ได้พูดถึงอัตราดอกเบี้ย แม้มีกระแสคาดการณ์ว่าในการประชุมวันที่ 18 ก.ย.นี้ เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างหนัก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ