นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันว่า หนี้สาธารณะของไทยยังไม่ชนเพดาน โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทย อยู่ที่ระดับ 8.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 51.9% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ที่ระดับ 60% ต่อจีดีพี แม้ว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นผลทำให้รัฐบาลต้องมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อมาดูแล เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ จนส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศไต่ขึ้นไปใกล้เพดาน แต่ก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง
ผู้อำนวยการ สบน. ในช่วงที่ผ่านมามีการระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ลดลง ส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีให้ลดลงตามไปด้วย เพราะมีการเลื่อนการชำระภาษีทั้งหมดออกไป ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้รายได้เข้ามาไม่ทัน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการกู้เงิน และใช้เงินกู้ออกไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจก่อน
"เงินที่กู้มารัฐบาลได้ นำมาใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เกือบทั้งหมดของประเทศ และใช้ในการฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจ ดังนั้นมาตรการทางการคลัง จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในขณะนี้" ผู้อำนวยการ สบน.กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่าหนี้สาธารณะในส่วนที่รัฐบาลกู้โดยตรงทั้งหมด คิดเป็น 77% ของพอร์ตหนี้สาธารณะทั้งหมด และ 73% จากจำนวนหนี้สาธารณะที่รัฐบาลกู้โดยตรง เป็นการกู้เพื่อมาลงทุนพัฒนาประเทศ ส่วนอื่นเป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่จะใช้รายได้ของตัวเองในการชำระหนี้ และหนี้ของหน่วยงานอื่น ๆ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องดูแลจริง ๆ เกี่ยวกับหนี้สาธารณะ คือ 6.3 ล้านล้านบาท จากสัดส่วนหนี้สาธารณะทั้งหมดที่ 8.1 ล้านล้านบาท
"ทุกคนอาจจะมองว่าหนี้สาธารณะของไทยเยอะ แต่อยากยืนยันว่า หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง รัฐบาลบริหารหนี้อย่างรอบคอบ และมีวินัยสูงมาก สิ่งที่อยากให้ประชาชนมั่นใจ คือ สบน. จะทำหน้าที่ให้รัฐบาลอย่างครบถ้วน คือ การหาเงินให้รัฐบาลให้ครบ ในระดับต้นทุนที่เหมาะสม และต้องมีการกระจายความเสี่ยง ไม่อยู่ในเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งมากเกินไป และที่สำคัญคือ จะไม่ไปแย่งเงินกับเอกชน เพราะรัฐบาลกู้เยอะมาก หากเอกชนไม่มีเงินไปลงทุนต่อตรงนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ สบน.ดูเรื่องทั้งหมดนี้อย่างละเอียด" นางแพตริเซีย กล่าว
ผู้อำนวยการ สบน. ระบุว่า หากพิจารณาจากแนวโน้มการก่อหนี้ของทุกประเทศทั่วโลก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าทุกประเทศมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นเยอะมาก ดังนั้นระดับหนี้สาธารณะทั่วโลกจึงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศในภูมิภาคเอเชีย ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 67% ต่อจีดีพี จากปีก่อน ๆ อยู่ที่ 60% ต่อจีดีพี ขณะที่ประเทศไทย มีการประเมินว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 ระดับหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 56% ต่อจีดีพี ยังไม่ถึง 60% ต่อจีดีพี
พร้อมยืนยันว่า ประเทศไทยยังมีศักยภาพการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยทุกปีสำนักงบประมาณจะมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีเครดิตดี ทุกคนยังให้ไทยกู้เงินได้ และไทยก็มีช่องทางที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่การจัดอันดับความน่าเชื่อถือใน 2 ครั้งที่ผ่านมาไม่ถูกปรับลดเครดิต
"อาจจะมีการปรับมุมมอง จากที่เคยเป็นบวก มาอยู่ที่คงที่ เนื่องจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือส่วนใหญ่ มองว่าไทยบริหารจัดการด้านการคลังได้ดีและแข็งแกร่ง เพราะรัฐบาลบริหารอย่างรอบคอบและมีวินัยมาก ๆ และรัฐบาลก่อหนี้สาธารณะอย่างอนุรักษ์นิยม รอบคอบ และมีวินัยมาก ๆ ไม่ได้ปั๊มเงิน และจะไม่ทำ" นางแพตริเซีย ระบุ