"กฎหมายนี้ใช้มาแล้วกว่า 95 ปียังไม่เคยมีการแก้ไข การแก้ครั้งนี้เพื่อลดภาระให้กับประชาชน"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ย 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 7 อัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้กำหนดไว้ก่อน และมาตรา 224 อัตราดอกเบี้ยผิดนัด โดยทั้ง 2 มาตรากำหนดดอกเบี้ยไว้ที่ 7.5% ต่อปี ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้มาแล้วเป็นเวลา 95 ปีตั้งแต่ปี 2468 จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีได้ไปศึกษาจากหลายประเทศจึงนำเสนออัตราใหม่เข้ามาให้ ครม.เห็นชอบ ดังนี้
ในส่วนดอกเบี้ยที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อน มาตรา 7 เดิมคิดอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี เป็นอัตราคงที่ตลอด ปรับใหม่เป็น 3% ต่อปี และให้กระทรวงการคลังประเมินทุก 3 ปี หากจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเมื่อลูกหนี้ผิดนัด มาตรา 224 ปัจจุบันคิดที่ 7.5% ต่อปี อัตราคงที่ตลอด ปรับใหม่เหลือ 5% มาจากดอกเบี้ย 3% ตามมาตรา 7 และบวกเพิ่มอีก 2% สำหรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดเวลาผ่อนส่งเป็นงวด เดิมคิดจากเงินต้นที่ค้างทั้งหมด ของใหม่คิดจากเงินต้นเฉพาะงวดที่ผิดนัดเท่านั้น
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความล้าสมัยของกฎหมาย ทำให้ลูกหนี้มีภาระเกินสมควร เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย 7.5% ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในตลาดต่ำกว่า 7.5% มาก, เกิดการประวิงเวลาฟ้องคดีเพื่อให้เจ้าหนี้แสวงหาประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยสูง นอกจากนี้มีเจ้าหนี้บางรายอาศัยความไม่ชัดเจนของกฎหมายให้ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระต้องจ่ายดอกเบี้ยบนเงินต้นทั้งหมด เมื่อผิดนัดเพียงแค่งวดใดงวดหนึ่ง รวมไปถึงทางภาพรวมเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม และมีผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของศักยภาพของประเทศในภาพรวมด้วย
ทั้งนี้ กระบวนการที่ผ่านมาทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานฯ การทำแบบสอบถามผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั่งผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย และรับฟังความเห็นจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงภาคเอกชนที่มีความเกี่ยวข้องด้วย
"เรื่องนี้ถือเป็นวาระสำคัญที่รบต้องการให้มีการผ่านกฎหมายโดยเร่งด่วน ขั้นตอนจากนี้เมื่อสภาเปิดสมัยประชุมสามัญแล้วจะมีการประสาน เพื่อให้ทางสภาฯ รับเรื่องร่างกฎหมายฉบับนี้พิจารณาและน่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในปีนี้" น.ส.รัชดา กล่าว