แหล่งข่าวกระทรวงพลังงานของพม่า เปิดเผยว่า พม่าและไทยอยู่ในระหว่างการเจรจาต่อรองเรื่องการก่อสร้างท่อก๊าซธรรมชาติทางทะเลร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งออกก๊าซจากบล็อก M9 นอกชายฝั่งมอตตะมะของพม่ามายังประเทศไทย
หนังสือพิมพ์เมียนมาร์ ไทมส์ รายงานว่า โครงการพัฒนาแหล่งก๊าซ M9 คาดว่าจะต้องการเม็ดเงินลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) ได้เข้าร่วมการสำรวจก๊าซในแหล่งดังกล่าว และจนถึงขณะนี้ได้พบก๊าซเชิงพาณิชย์แล้วเป็นจำนวนมากในบ่อทดสอบทั้ง 7 แห่งนับแต่ปี 2548
แหล่งก๊าซแห่งนี้มีก๊าซประมาณการว่าสูงกว่า 8 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือ 2.265 แสนล้านลูกบาศก์เมตร และมีอัตราการผลิตได้ราว 300 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือ 8.49 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งคาดการณ์ว่า การผลิตก๊าซและการส่งออกจากแหล่งก๊าซ M9 จะเริ่มขึ้นได้อย่างเร็วสุดในช่วงปลายปี 2554
ปตท.สผ. เข้าไปลงทุนในแหล่งก๊าซอีก 4 แห่งของพม่าได้แก่ บล็อก M7, M3, M4, M11 ในบริเวณนอกชายฝั่งมอตตะมะเช่นกัน
ในช่วงปีงบประมาณ 2548-2549 พม่าสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ 7.962 ล้านบาร์เรล และก๊าซอีก 1.145 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร และการส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าวคิดเป็น 9.138 พันล้านลูกบาศก์เมตร สร้างรายได้มหาศาลมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2549-2550 พม่าผลิตน้ำมันดิบได้แล้ว 5.822 ล้านบาร์เรล และก๊าซ 9.819 พันล้านลูกบาศก์เมตร และส่งออกก๊าซไปแล้ว 8.124 พันล้านลูกบาศก์เมตร มีรายได้ 1.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาในภาคอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมันของพม่า ณ สิ้นสุดปี 2549 มีมูลค่าสูงแตะ 2.769 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่พม่าเริ่มเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้เมื่อปี 2531 การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและแก็สจากต่างชาติจัดอยู่ในเป็นอันดับ 2 รองจากภาคพลังงานไฟฟ้า สำนักข่าวซินหัวรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ฤดี ภวสิริพร/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--