นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน มี.ค.64 อยู่ที่ 55.75 จุด ปรับตัวลดลง 4.46 จุด หรือ 7.41% จากเดือน ก.พ.64 ที่ระดับ 60.21 จุด โดยมีปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับลดลงมาจากแรงขายทองคำจากธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัว วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีประสิทธิภาพสูง รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น และแรงขายเก็งกำไรของกองทุน
สำหรับการคาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน มี.ค.64 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 382 ตัวอย่าง พบว่า 51% คาดว่าจะซื้อทองคำในช่วงเดือนนี้หลังจากราคาทองคำปรับลดลงมา ขณะที่ 34% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ และ 15% ยังไม่ซื้อทองคำในเดือน มีนาคม 2564
โดยความเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำจำนวน 13 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน มี.ค.64 จะลดลงมีจำนวน 8 ราย และคาดว่าจะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน ก.พ.64 มีจำนวน 3 ราย ส่วนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมีจำนวน 2 ราย
ขณะที่การคาดการณ์ราคาทองคำในเดือน มี.ค.64 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,666-1,832 ดอลลาร์/ออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 24,200-25,900 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาทให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 29.94-30.75 บาท/ดอลลาร์
ด้านการลงทุนทองคำในเดือน มี.ค.64 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้คำแนะนำการลงทุนในระยะสั้นจากการแกว่งตัวของราคาทอง เนื่องจากราคาทองยังคงมีความผันผวน โดยอาจเข้าซื้อเมื่อราคาย่อตัวลงมา และให้ขายทำกำไรเมื่อราคาดีดตัวสูงขึ้น หรือหากราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นยืนเหนือแนวต้านได้อย่างแข็งแกร่ง แนะนำลดความเสี่ยงจากการลงทุน โดยขายทำกำไร ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของราคาทองคำได้
ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จากผลกระทบของโควิด-19 กลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นว่า นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยายามผลักดันมาตรการ "American Rescue Plan" กระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติอนุมัติการพิจารณาแผนงบประมาณแบบเร่งด่วน
ขณะที่นางแนนซี เพโลซี ประฌนสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ คาดว่ากฎหมายเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 อาจจะผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรสได้ก่อนวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดนั้นจะหมดอายุลง
2.นโยบายทางเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นว่า คณะกรรกมารกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) มีกำหนดการประชุมระหว่าง 16-17 มี.ค.
โดยการประชุมดังกล่าวจะส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไปอย่างไร แม้ว่าการประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26-27 ม.ค.ที่ผ่านมา มีความเห็นตรงกันว่า เฟดควรจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐ