ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.64 อยู่ที่ 49.4 จาก 47.8 ในเดือน ม.ค.64 โดยดัชนีปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 43.4 จาก 41.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 46.1 จาก 45.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 58.7 จาก 56.8
ปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐดำนินมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ โครงการ"เราชนะ" "เรารักกัน" "คนละครึ่ง" "เราเที่ยวด้วยกัน", การเริ่มต้นฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคคลายความกังวล, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น
ปัจจัยลบ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่ กระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 เหลือ 2.5-3.5% จากเดิม 3.5-4.5%, ความกังวลเสถียรภาพทางการเมือง, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, เงินบาทแข็งค่าทำให้มีความกังวลต่อความสามารถในการแข่งขันสินค้าไทย และผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน นับตั้งแต่ธ.ค.63 เป็นต้นมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย หลังเริ่มเห็นการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศ นอกจากนี้ การที่กำลังซื้อของผู้บริโภคมีมากขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการ "เราชนะ" ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น อีกทั้งราคาพืชผลเกษตรปรับตัวดีขึ้นแทบทุกรายการ ส่งผลให้กำลังซื้อในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นได้ ทั้งนี้ หากการฉีดวัคซีนในประเทศมีแผนการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถดำเนินการได้อย่างกว้างขวางขึ้นในอนาคต จะทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นไป และจะช่วยให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นไปด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในไทย ว่าจะคลี่คลายลงได้เร็วเพียงใด ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมาเยียวยาผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ในช่วงไตรมาส 2 จากโครงการ "เราชนะ", "คนละครึ่ง" และ"เรารักกัน" ว่าจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไรหลังจากการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ตัวนี้ จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงการคลัง พบว่ามียอดการใช้จ่ายของประชาชนในโครงการกระตุ้นกำลังซื้อต่าง ๆ ที่ภาครัฐออกมา ทำให้มีเม็ดเงินลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้วเกือบแสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปีนี้ ให้เติบโตได้ราว 1-1.5% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะหดตัว -1 ถึง -2% ซึ่งถือว่าดีขึ้นมากจากไตรมาส 4/63 ที่เศรษฐกิจไทยหดตัว -4.2% ขณะเดียวกัน ยังมีเม็ดเงินที่จะรอลงสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาส 2 อีกราวแสนล้านบาทเช่นกันที่จะมาจากโครงการกระตุ้นกำลังซื้อที่ยังดำเนินอยู่ต่อเนื่อง เช่น โครงการ "คนละครึ่ง" และ"เรารักกัน" ซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวหนุนให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 พลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ 1-2% จึงทำให้ประเมินได้ว่าเศรษฐกิจไทยปี 64 นี้มีโอกาสมากที่จะเติบโตได้ในระดับ 3% นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า ภาคเอกชนสนับสนุนแผนบริหารจัดการการฉีดวัคซีนที่ชัดเจนของรัฐบาล เพื่อให้ต่างประเทศได้รับทราบกระบวนการฉีดวัคซีนที่ชัดเจนของไทย รวมทั้งมาตรการที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อทั้งภาคการลงทุนและภาคท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในอนาคต ซึ่งหากในไตรมาส 4 ไทยสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศได้ ก็จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าได้ โดยเฉพาะการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต ที่พัก ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอนาคต "หากในไตรมาส 4 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้อย่างน้อยเดือนละ 1-2 ล้านคน หรือทั้งไตรมาสได้ 4-6 ล้านคน ก็จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว เพราะฉะนั้นต้องเร่งวางแผนเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต และเปิดโอกาสให้คนไทยสามารถรับวัคซีนได้อย่างกว้างขวาง" นายธนวรรธน์ ระบุ นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังสนับสนุนให้รพ.เอกชน เป็นส่วนหนึ่งในทางเลือกเพื่อช่วยในการกระจายวัคซีนโควิดให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ฝ่ายเดียวอาจจะไม่ทันต่อการควบคุมการระบาดในประเทศได้