(เพิ่มเติม) SCB EIC เพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้เป็น 2.6% หลังส่งออกฟื้น-มาตรการรัฐหนุนกำลังซื้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 11, 2021 11:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) SCB EIC เพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้เป็น 2.6% หลังส่งออกฟื้น-มาตรการรัฐหนุนกำลังซื้อ

ฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงิน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นเป็น 2.6% จากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะเติบโต 2.2% หลังภาคการส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB EIC กล่าวว่า การปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ในปี 64 มีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ซึ่งรับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยข้อมูลล่าสุดนั้นพบว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงเดือน ธ.ค.63 และ ม.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้นมาเทียบเท่าในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 นับเป็นการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่เคยคาดไว้ ขณะที่ในระยะต่อไปมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากการเร่งฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ทำให้ SCB EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าส่งออกของไทยในปี 64 เป็นขยายตัวที่ 6.4% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4% ซึ่งช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ"คนละครึ่ง" "เราชนะ" และ"ม33 เรารักกัน" สามารถช่วยพยุงให้กำลังซื้อสามารถเพิ่มขึ้นได้ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวที่มีวงเงินช่วยเหลือกว่า 2.5 แสนล้านบาท ครอบคลุมผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 40 ล้านคน นับเป็นเม็ดเงินขนาดใหญ่จะที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงนี้ได้ แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากรายได้ของคนในประเทศที่ลดลง จากการทำงานที่ต่ำกว่าศักยภาพ ทำให้กำลังซื้อและความเชื่อมั่นในการบริโภคถูกกระทบมาก จนเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป แม้ว่าอัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากที่ 1.5%

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีแรงกดดันจากภาคท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เพียง 3.7 ล้านคน เนื่องจากการเดินทางระหว่างประเทศจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อประเทศส่วนใหญ่มีภาวะภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว (Herd immunity) ซึ่งจะทำให้ประเทศเหล่านั้นเปิดประเทศต่อนักเดินทางที่ฉีดวัคซีนแล้วทั้งขาเข้าและขาออกอย่างเสรีมากขึ้นโดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีโอกาสได้รับภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ที่เร็วกว่าในช่วงไตรมาส 2/64 และไตรมาส 3/64 แต่ไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย จึงทำให้การท่องเที่ยวของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นช้า โดยคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงไตรมาส 4/64 และต้นปี 65 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยจะทยอยมีภูมิคุ้มกันหมู่มากขึ้น สำหรับงบประมาณของภาครัฐที่ยังเหลือเงินพยุงเศรษฐกิจได้เพิ่มเติมอีกราว 3.9 แสนล้านบาท จาก 2.5 แสนล้านบาทที่เหลือภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และจากงบกลางอีกราว 1.4 แสนล้านบาท คาดว่าจะยังมีการเบิกใช้ออกมาได้มากขึ้น ผ่านการลงทุนโครงการต่างๆ และการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศมาชดเชยภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเร็ว ด้านนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตลอดปี 64 รวมทั้งใช้มาตรการเฉพาะจุดร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงินและจัดสรรสภาพคล่อง รวมถึงสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการจัดการกับหนี้เสีย ภาวะการเงินโดยรวมของไทยยังคงอยู่ในระดับผ่อนคลายจากการที่ ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกระจายสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่ายการชำระหนี้ให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

นายยรรยง กล่าวว่า แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยโน้มสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ในระยะต่อไป SCB EIC คาดว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเมื่อจำเป็นเพื่อดูแลดอกเบี้ยในตลาดการเงินให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้แนวโน้มเงินเฟ้อที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่ง SCB EIC คาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 64 อยู่ที่ 1.3%

ขณะที่ค่าเงินบาทในสิ้นปี 64 SCB EIC คาดว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากสิ้นปีก่อนมาอยู่ในช่วง 30-31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเป็นสำคัญ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเร็วกว่าประเทศอื่นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวที่ปรับเพิ่มขึ้นเร็ว ขณะที่การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจของไทย และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ราว 1.9% ต่อ GDP ในปี 64 SCB EIC มองว่าจะลดแรงกดดันด้านการแข็งค่าของเงินบาทลงได้บ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ