รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ค. 50 มีประชากรไทยว่างงาน 4.6 แสนคน เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4 หมื่นคน
โดยสาขาการผลิตมากสุด 8 หมื่นคน, ก่อสร้าง 4 หมื่นคน, ขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์และของใช้ส่วนบุคคลและครัวเรือน 4 หมื่น, ภาคเกษตรกรรม 3 หมื่น, โรงแรมและภัตตาคาร 2 หมื่นคน เป็นต้น หากแบ่งตามภูมิภาคพบว่าภาคเหนือเพิ่มมากสุด 3 หมื่นคน, ภาคกลาง 1 หมื่น ส่วนกรุงเทพฯ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ไม่เปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ผู้ว่างงาน 4.6 แสนคนพบว่าเป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา 1.5 แสนคน มัธยมตอนต้น 1.1 แสนคน มัธยมตอนปลาย 9 หมื่นคน ประถมศึกษา 7 หมื่นคน และ ไม่มีหรือต่ำกว่าประถมศึกษา 4 หมื่นคน
สำหรับผู้มีงานทำในก.ค. มี 37.37 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.3 แสนคน โดยเป็นภาคเกษตรกรรม 15.61 ล้านคนลดลง 8 หมื่นคน และ นอกภาคเกษตรกรรม 21.76 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.1 แสนคน สาขาการขายส่ง ขายปลีกฯ มากสุด 2.5 แสนคน รองลงมาอสังหาริมทรัพย์ 1.1 แสนคน, การผลิต 8 หมื่นคน, การบริหารราชการแผ่นดินรวมประกันสังคมภาคบังคับ 8 หมื่นคน, ก่อสร้าง 7 หมื่นคน, การขนส่ง คมนาคมและคลังสินค้า 7 หมื่นคน, โรงแรมและภัตตาคาร 2 หมื่นคน และการศึกษา 2 หมื่นคน เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้ทำงาน 37.37 ล้านคน แบ่งเป็นนายจ้าง 3% ลูกจ้างรัฐบาล 8.5% ลูกจ้างเอกชน 35.5% ทำงานส่วนตัว 30.9% ทำงานให้ครอบครัวโดยไม่รับค่าจ้าง 21.9% และการรวมกลุ่ม 0.1%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงจนส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิต และก่อสร้าง ซึ่งทั้ง 2 สาขาที่มีสัดส่วนว่างงานมากสุดในทุกเดือน เพราะว่าโครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนชะงักไปหลายโครงการ รวมถึงโรงงานหลายแห่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท และแรงงานทั้ง 2 สาขา จำนวนมากอยู่ในภาคเกษตรกรรม เพียงต้องการหารายได้ช่วงที่รอฤดูกาลเก็บเกี่ยว
“ต้องการให้กระทรวงแรงงานหามาตรการช่วยเหลือผู้ที่ว่างงาน โดยเฉพาะผู้ที่จบระดับอุดมศึกษาซึ่งมีสัดส่วนมากสุด อย่างไรก็ตามปัญหาของผู้จบการศึกษาระดับสูงตอนนี้คือเรียกเงินเดือนที่สูง และเป็นแรงงานที่โรงงานไม่ต้องการจ้างแบบเร่งด่วน ซึ่งไม่เหมือนกับกลุ่มไร้ฝีมือที่ภาคอุตสาหกรรมสามารถใช้งานได้เร็วกว่า เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเสื้อผ้า เป็นต้น"นายธนวรรธน์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/กษมาพร/นิศารัตน์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 322 อีเมล์: nisarat@infoquest.co.th--