นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะประธานกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กบร. ครั้งที่ 3/2564 (11 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมฯ มอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT พิจารณาการกำหนดอัตราค่าโดยสารให้เป็นไปตามหลักสากลและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หลังได้รับทราบผลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศ ซึ่งพบว่าจำนวนผู้โดยสารจากต่างประเทศที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ส่งผลให้ต้นทุนต่อผู้โดยสารที่สายการบินต้องแบกรับปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนทำให้สายการบินจำเป็นต้องปรับเพิ่มค่าโดยสาร อย่างไรก็ตามสายการบินจำเป็นต้องปรับลดค่าโดยสารสูงสุดลงเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของกลุ่มผู้โดยสารในประเทศไทย
ส่วนผลของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (Excise Tax) ช่วยลดต้นทุนผันแปร (Variable Cost) ให้กับสายการบิน ช่วยพยุงให้สายการบินดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ไม่ส่งผลต่อความสามารถในการลดค่าโดยสารได้ เนื่องจากสายการบินต้องรับภาระต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) รายการอื่น ๆ ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารลดลงและยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ, จำนวนเที่ยวบินลดลง ,การขาดสภาพคล่องของสายการบิน และการกำหนดราคาค่าโดยสารมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่น ฤดูกาล อุปสงค์ ระยะเวลาการจองล่วงหน้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปัจจุบันพบว่า มีเรื่องของระยะเวลาการจองตั๋วมาเกี่ยวข้อง โดยจองก่อน จะได้ตั๋วราคาถูก จองช้าราคาจะแพงกว่า ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล และไม่ตอบโจทย์ที่จะอธิบายกับผู้โดยสาร ซึ่งในระบบโลจิสติกส์การคิดอัตราค่าโดยสาร ใช้ฐานคิดตามระยะทาง (Distance Rate) และน้ำหนัก (Weight Rate) และกำหนดเฟกเตอร์ตัวคูณที่เหมาะสมและยอมรับกันได้จริงมาประกอบ
รมว.คมนาคม ยังมอบหมายให้กพท.พิจารณาการจัดสรรเวลาการบิน (Slot) ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศต้องมีชัดเจน โดยจากเดิมที่ให้บมจ. การบินไทย (THAI) เป็นผู้บริหาร Slot เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยไม่ได้เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแล้ว ดังนั้น กพท.จะต้องดูแล Slot ทั้งหมด โดยมีกติกา ว่าหากสายการบินที่มี Slot แล้วใช้ไม่เต็ม หรือไม่ใช้ จะเรียกคืนเพื่อนำมาบริหารให้กับสายการบินอื่นที่ต้องการและสามารถนำไปทำการบินได้จริง จะทำให้เกิดการบริหารการบินที่ได้ประโยชน์กับประเทศ ไม่มีปัญหาบางช่วง Slot ว่าง ส่วนหลักการ Slot ระหว่างประเทศ ต้องคำนึงรูปแบบต่างตอบแทน ด้วยทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับการบิน ซึ่งประเมินว่าในไตรมาส 4/2564 การเดินทางท่องเที่ยวจะกลับมา
ที่ประชุม กบร. ยังได้มีมติรับทราบผลการรวบรวมข้อมูลผลการประกอบกิจการประจำปี 2562 และการจัดกลุ่มตามระดับสุขภาพทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบประจำ (สายการบินของไทยซึ่งขนส่งผู้โดยสาร) โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ (1) ระดับอันตราย จำนวน 8 บริษัท (2) ระดับเฝ้าระวัง จำนวน 3 บริษัท และ (3) ระดับปลอดภัย (ไม่มี) รวมทั้ง กบร. ได้เห็นชอบแนวทางในการกำกับผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ในแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กรณีที่อยู่ในระดับอันตราย กพท. จะเชิญผู้ได้รับใบอนุญาตฯ เข้ามาชี้แจงรายละเอียดและทำแผนฟื้นฟูธุรกิจ ภายในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อประเมินสถานะทางการเงินว่าจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
รวมทั้งเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อร่วมกันหารือทางออกและจัดการกับปัญหาได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ หากผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ กพท. จะดำเนินการไม่พิจารณาจัดสรรเส้นทางบินเพิ่มเติม ไม่อนุญาตให้จัดหาอากาศยานเพิ่มเติม และการจำกัดระยะเวลาในการจำหน่ายบัตรโดยสารล่วงหน้าเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้โดยสารในอนาคต
นอกจากนี้ให้ กพท. ประสานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อจัดให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่บุคลากรทางการบินซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสและใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางทางอากาศเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดทำการบินระหว่างประเทศและเพื่อให้ประเทศไทยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจผ่านระบบการขนส่งทางอากาศได้
และให้ กพท. จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่าง กพท. กับภาคอุตสาหกรรมการบิน(Industry Conference) และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่าง ๆ เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานด้านการบินพลเรือนทุกภาคส่วนให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น