มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภคทั่วประเทศ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และ สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ต่อศาลปกครองกรณีมีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ ซีพี - เทสโก้ อาจขัดกฎหมายในประเด็นสำคัญ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กล่าวคือไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป
อีกทั้งเป็นมติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ขัดกับ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ขัดต่อเจตนารมณ์ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 และขัดกับวัตถุประสงค์และพันธกิจของสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มติดังกล่าวมีผลผูกพันให้มีการรวมธุรกิจของผู้ได้รับอนุญาต ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงหรือประเภทเดียวกันในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งอาจยังเป็นเหตุให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอาศัยเป็นข้ออ้าง เพื่อควบรวมธุรกิจสู่การมีอำนาจเหนือตลาดเช่นเดียวกันได้
โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลไต่สวนคำร้อง และขอให้มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยมีคำสั่งให้ระงับการรวมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ของบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ไว้ก่อนชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
เนื่องจากเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสมกับข้อเท็จจริง ไม่รอบคอบ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบด้วย
1.ขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์และหลักการสำคัญที่มุ่งเน้นกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีแข่งขันทางการค้ามากที่สุด ภายใต้หลักเสรีและเป็นธรรม
2.ไม่มีความจำเป็นทางธุรกิจ หรือเป็นการส่งเสริมการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจไม่ได้มีความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ ตรงกันข้ามกลับมีส่วนแบ่งในตลาดสูงถึงร้อยละ 69.3 ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอยู่แล้ว เพราะมีส่วนแบ่งเกินร้อยละ 50 ขึ้นไป และเมื่อควบรวมแล้ว จะทำให้มีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 83.97 จึงถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจอย่างชัดเจน
3.จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เป็นการกินรวบ เพราะการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะวิกฤตในสังคม เช่น น้ำท่วม หรือ โรคโควิด-19 ที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม หากราคาสินค้าถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจเหนือตลาด
4.ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม เมื่อจำนวนผู้แข่งขันในตลาดลดลง ผู้บริโภคย่อมมีทางเลือกในการซื้อสินค้าน้อยลง โดยเฉพาะธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีอย่างน้อย 5 จังหวัดที่เดิมผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจมีส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 100 อยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้อาจเป็นช่องทางให้มีการกำหนดราคาสินค้าตามความต้องการของกลุ่มบริษัทผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจ และหากในอนาคตมีการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ต้นทุนสูง ผู้บริโภคอาจตกเป็นผู้รับภาระต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
5.ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ การควบรวมทำให้ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ทำให้มีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็น SMEs ผู้ผลิตสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน ที่ไม่มีอำนาจต่อรอง มีโอกาสถูกเอารัดเอาเปรียบจากการกำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรืออาจจำยอมต้องรับเงื่อนไขโดยไร้ข้อต่อรอง
6.ทำให้คู่แข่งทางธุรกิจรายเดิมหรือรายใหม่เข้าสู่ตลาดยากขึ้น จนต้องเลิกทำธุรกิจในที่สุด ส่งผลให้ผู้ขอรวมธุรกิจอาจเป็นผู้ประกอบธุรกิจเพียงรายเดียวในตลาด ทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคน้อยลง และยังเป็นการทำลายธุรกิจคู่แข่งในกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการในธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดเล็กในตลาดค้าปลีกค้าส่ง
7.ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง ในขณะที่เงื่อนไขเชิงพฤติกรรมก็อาจบังคับได้ยากหรือไม่ได้เลย โดยเงื่อนไขแต่ละข้อขัดแย้งกันเอง และมีกำหนดระยะเวลาที่สั้นเกินสมควร