กสิกรฯ คาดไทยส่งออกข้าวปีนี้ 5.8-6 ล้านตัน แนะใช้ข้าวหอมมะลิชูโรงขยายตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 15, 2021 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2564 การส่งออกข้าวของไทยอาจยังประคองตัวได้ในกรอบจำกัดอยู่ที่ราว 5.8-6.0 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 1.3-4.8% จากในปี 2563 ที่มีปริมาณ 5.7 ล้านตัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่ภาครัฐตั้งไว้ที่ 7.5 ล้านตัน และยังเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยไทยหล่นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และเวียดนาม ตามลำดับ

แม้การส่งออกข้าวไทยจะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยบวก คือ ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นจากการเข้าสู่วงรอบของลานีญา ทำให้มีปริมาณผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ผนวกกับเกษตรกรมีแรงจูงใจในการปลูกข้าวต่อไปจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ แต่คงต้องยอมรับว่า การส่งออกข้าวไทยจะยังคงต้องเผชิญปัจจัยลบที่ยังมีอยู่ต่อเนื่องจากปีก่อน แม้ปัจจัยลบดังกล่าวจะให้ภาพที่ดีขึ้นบ้างแล้วก็ตาม ทั้งในเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ให้ภาพคลี่คลายขึ้น รวมถึงปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่น่าจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าปีก่อน

นอกจากนี้ เงินบาทที่แข็งค่า จะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา สุดท้าย จะทำให้ภาพรวมการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้น่าจะสามารถประคองการเติบโตได้แต่คงอยู่ในกรอบที่จำกัด ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวในโลกไว้ได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ราว 12.8%

พร้อมมองว่า จากนี้ไปไทยน่าจะไม่สามารถกลับไปเป็นแชมป์การส่งออกข้าวโลกได้อีกแล้วดังเช่นในอดีต และที่ไทยเคยส่งออกข้าวเฉลี่ยได้สูงถึงราว 9 ล้านตันต่อปี เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น รวมถึงราคาข้าวไทยที่ยังสูงกว่าคู่แข่งโดยเปรียบเทียบ ดังนั้น ไทยควรมุ่งไปที่การผลิตข้าวที่เน้นการแข่งขันในเชิงมูลค่ามากกว่าเชิงปริมาณ (ที่เน้นไปแค่เพียงการจัดอันดับของผู้ส่งออกข้าวในโลกเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงด้านคุณภาพข้าว)

"ความหวังของการส่งออกข้าวไทยในระยะข้างหน้า คงอยู่ที่การให้ความสำคัญกับตัวชูโรงอย่างข้าวหอมมะลิ ที่ควรเร่งเพิ่มการผลิตเพื่อใช้ในการส่งออกและบริโภคในประเทศ ขณะที่ในด้านราคาก็น่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าข้าวประเภทอื่น จึงนับว่าข้าวหอมมะลิน่าจะมีโอกาสและศักยภาพมากที่สุดในพันธุ์ข้าวที่ไทยมี ณ ขณะนี้" บทวิเคราะห์ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ข้าวหอมมะลิน่าจะเป็นตัวชูโรงของการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ให้ประคองตัวต่อไปได้ รวมถึงในระยะข้างหน้า (เมื่อเทียบกับข้าวขาวและข้าวนึ่งที่มีการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงกว่า และเป็นตลาด MASS) เพราะมีเอกลักษณ์คุณภาพด้านความหอม เหนียว นุ่ม และยังตอบโจทย์รสนิยมของผู้บริโภคโดยเฉพาะในตลาดส่งออกที่แข็งแกร่งของข้าวหอมมะลิไทยอย่างสหรัฐอเมริกาที่น่าจะยังสามารถเติบโตได้ดี

โดยคาดว่าในปี 2564 ปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยไปสหรัฐอเมริกา อาจอยู่ที่ 0.54-0.56 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 10.7-14.8% (YoY) จนช่วยหนุนให้ปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิทั้งหมดของไทยอยู่ที่ราว 1.3-1.35 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 9.3-13.5% (YoY) เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีประชากรจำนวนมากกว่า 330 ล้านคน และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่อยู่ในระดับสูงราว 35,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี จึงยังเป็นประเทศเป้าหมายของข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นข้าวเกรดพรีเมียมของไทย

ประกอบกับคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยจะเติบโตที่ 3.1-5.1% อีกทั้งภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด จะทำให้คนส่วนใหญ่ยังคงพักอาศัยอยู่ในบ้านเป็นหลัก จึงมีความต้องการข้าวเพื่อนำไปประกอบอาหาร รวมถึงการกักตุนอาหารที่มากขึ้นด้วย

นอกจากนื้ หากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ก็จะเป็นปัจจัยให้ร้านอาหารไทยที่มีอยู่มากมายในสหรัฐอเมริกาสามารถทยอยกลับมาให้บริการได้ ซึ่งข้าวหอมมะลิได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภคทั้งในกลุ่มชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกาที่บริโภคข้าวเป็นหลัก รวมถึงชาวอเมริกันที่บริโภคข้าวควบคู่ไปกับอาหารหลัก

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้โอกาสในด้านคุณภาพข้าวไทยเจาะตลาดเพิ่มเติมในกลุ่ม Millenials ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่น่าจะมีศักยภาพ โดยเฉพาะในสินค้าที่ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพมากขึ้น เช่น ข้าวหอมมะลิออร์แกนิค เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นวัยทำงานที่มีกำลังซื้อเช่นกัน รวมถึงผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว อาหารเช้า ขนมขบเคี้ยว แป้งทำขนม น้ำมันรำข้าว และเครื่องดื่มนมจากข้าว เป็นต้น ก็ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการทำตลาดข้าวหอมมะลิในสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มเติมด้วย

ขณะที่ในมุมของราคาส่งออกเมื่อเทียบกับคู่แข่ง จะเห็นว่าแม้ราคาข้าวหอมมะลิของไทยจะสูงกว่าคู่แข่ง แต่ด้วยคุณภาพข้าวที่ดี ถูกปากผู้บริโภค ทำให้ข้าวหอมมะลิเป็นตลาดข้าวที่ไม่ได้แข่งขันด้านราคาเป็นหลัก (เน้นคุณภาพ) อย่างไรก็ดี พบว่า ราคาข้าวหอมมะลิไทยมีทิศทางที่ปรับตัวลดลง และทำให้มีช่วงห่างของราคาเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนามที่แคบลง ทำให้ไทยน่าจะมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น

ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างอินเดีย ก็มีคุณภาพข้าวที่ยังเทียบชั้นกับไทยไม่ได้ และแม้ว่าคู่แข่งอย่างเวียดนามจะมีราคาข้าวถูกกว่าไทย แต่ด้วยปริมาณการส่งออกของเวียดนามไปสหรัฐอเมริกาที่ยังอยู่ในสัดส่วนน้อย และคุณภาพที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก จึงคาดว่าไทยจะยังไม่ต้องกังวลเรื่องคู่แข่งมากนัก และน่าจะยังสามารถครองตลาดข้าวหอมมะลิในสหรัฐอเมริกาได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากศักยภาพของข้าวหอมมะลิไทยที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ตอบโจทย์ตลาดข้าวพื้นนุ่มที่เน้นการแข่งขันด้านคุณภาพมากกว่าราคา ดังนั้น ไทยควรจะมุ่งเน้นไปที่การผลิตข้าวหอมมะลิให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (Yield) เพราะการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวของไทยคงทำได้ยาก โดยเฉพาะแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีพื้นที่ปลูกราว 97.2% ของพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทั้งประเทศ และยังเป็นโอกาสที่ดีในภาวะที่ไทยเข้าสู่วงรอบของปรากฏการณ์ลานีญา อันจะช่วยให้พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่อยู่นอกเขตชลประทานกว่า 75% ให้สามารถมีปริมาณน้ำที่เพียงพอในการปลูกข้าวหอมมะลิได้ดีขึ้น ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวให้สูงขึ้นด้วย อันจะเป็นการลดความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นของผลผลิตข้าวหอมมะลิเพื่อตอบรับความต้องการของตลาดได้อย่างสม่ำเสมอ

ในขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกข้าวไทยเองก็ยังต้องรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยด้านอาหารที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาอย่างเคร่งครัด ทั้งการปฏิบัติตามมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) และ HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) รวมไปถึงการควบคุมปริมาณสารตกค้าง/สารปนเปื้อนต่างๆ ไม่ให้เกินปริมาณที่กำหนดไว้ อีกทั้งการยกระดับคุณภาพข้าวหอมมะลิไทย เช่น การควบคุมการผลิตและการติดฉลากสินค้าอินทรีย์ จะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยให้มีความพรีเมียมมากยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้า หากภาครัฐยังมีมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ก็จะยิ่งเป็นแรงจูงใจในการทำให้เกษตรกรหันมาดูแลใส่ใจในการบำรุงและหันมาปลูกข้าวหอมมะลิมากขึ้น รวมถึงภาคอื่นของไทยที่มีการปลูกข้าวก็สามารถหันมาปลูกข้าวหอมมะลิได้ในบางพื้นที่ เพื่อทดแทนการปลูกข้าวขาวที่เป็นพันธุ์ที่ให้ราคาต่ำและเป็นสินค้า MASS ที่มีการแข่งขันสูง อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย

อีกทั้งในอนาคต ไทยจะต้องเตรียมความพร้อมด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้มีศักยภาพอยู่เสมอเพื่อรองรับในกรณีที่หากหมดวงรอบของลานีญาแล้ว อันจะเป็นการผลิตข้าวที่มีความสม่ำเสมอได้ด้วยการตัดปัจจัยเสี่ยงด้านความผันผวนของสภาพภูมิอากาศออกไป รวมไปถึงการเร่งพัฒนาและค้นคว้าวิจัยพันธุ์ข้าวไทยให้มีความหลากหลาย ก็นับเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่จะทำให้ไทยสามารถมีข้าวหลากหลายสายพันธุ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิต ท่ามกลางภาวะที่มีการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรง ท้ายที่สุด จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวของไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ