(เพิ่มเติม) รมว.คลัง เผย IMF หนุนใช้ทั้งมาตรการการเงิน-การคลังฟื้นเศรษฐกิจจากโควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 17, 2021 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า จากที่ได้มีโอกาสหารือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้มีการประเมินเศรษฐกิจไทยร่วมกัน ซึ่ง IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ราว 2.6% ซึ่งใกล้เคียงกับที่กระทรวงการคลังประเมินไว้ที่ 2.8% และกรอบคาดการณ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ 2.5-3.5%

พร้อมกันนี้ IMF ยังมองว่าประเทศไทยสามารถใช้นโยบายการคลังได้อย่างดี ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ การเยียวยาช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มต่างๆ ตลอดจนมาตรการด้านการเงิน ที่ใช้นโยบายผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ให้แก่ภาคธุรกิจ เป็นต้น

นายอาคม กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวอย่างน้อย 2 ปี หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด จึงมองว่ารัฐบาลจะต้องทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นในไตรมาส 4/64 ขณะที่รายได้ใหม่จากการท่องเที่ยวจะเข้ามาในปี 65

"ไอเอ็มเอฟ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน แต่อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ และขอให้ทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน"นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ในส่วนของกระทรวงการคลังมีความต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นไปถึงระดับ 4% ในปีนี้ แต่คงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออก ขณะที่ภาครัฐเองจะพยายามผลักดันการลงทุนภาครัฐอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

"4% มีความเป็นไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น นโยบายของสหรัฐฯ ในการอัดฉีดเม็ดเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 60 ล้านล้านบาท เชื่อว่านโยบายนี้จะส่งผลบวกกับเศรษฐกิจไทยด้วย รวมถึงการลงทุนภาครัฐ ผ่านโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม" รมว.คลัง กล่าว

นายอาคม ยังกล่าวถึงข้อเสนอลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อกระตุ้นการลงทุนว่า กระทรวงการคลังยังไม่มีแนวคิดในเรื่องดังกล่าว เพราะแม้ว่าอัตราภาษีของไทยจะยังไม่ต่ำเหมือนสิงคโปร์ แต่ก็ถือว่าต่ำสุดเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค ขณะที่รายได้ส่วนนี้ก็ถือเป็นรายได้หลักของแผ่นดิน ขณะที่การกระตุ้นการลงทุนก็ยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่านการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้

ส่วนการแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังอยู่ระหว่างดำเนินการให้สามารถปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ใหญ่กว่ากลุ่มเอสเอ็มอีได้ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ