กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จัดเวทีชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ก่อนเสนอร่างกฎหมายการเงิน 4 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสนช. โดยมั่นใจว่าจะสามารถบังคับใช้กฎหมายทั้งหมดภายในวาระของรัฐบาลชุดนี้ รมช.คลังยอมรับยังต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น
นายสมหมาย ภาษี รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งนำร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสนช. โดยได้มีการจัดลำดับไว้ว่าในเดือนนี้จะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.สถาบ้นการเงิน และ ร่างพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย , ร่างพ.ร.บ.เงินตรา และ ร่างพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก
หากกฎหมายทั้ง 4 ฉบับผ่านการพิจารณาของสนช.และนำออกมาบังคับใช้ได้พร้อมกันก็เชื่อว่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เพราะมีการกำกับด้วยกฎหมายที่ดี ซึ่งคิดว่าสนช.น่าจะให้การสนับสนุนหลังจากได้รับฟังคำชี้แจงไปแล้ว
สำหรับร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ยังต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นการกำหนดวงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบัน ซึ่งธปท.และกระทรวงการคลังจะประสานงานกันมากขึ้น
"ทุกวันนี้มีแต่คนพูดด้วยความหวังดี แต่ไม่มีใครเข้าใจกฎหมายเลย แบงก์ชาติกับคลังต้องทำงานหนักมากขึ้นในการชี้แจง"นายสมหมาย กล่าว
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การบังคับใช้ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะไม่กระทบกับรายย่อยที่มีอยู่ราว 98.5% และมีผู้ฝากเงินเพียง 1 หมื่นรายที่ฝากเงินเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป
ส่วนร่างพ.ร.บ.เงินตรา ที่กำลังมีการพิจารณาตัดมาตรา 34 วรรค 2 ที่ให้อำนาจธปท.นำเงินสำรองในบัญชีหนุนหลังธนบัตรมาใช้ยามวิกฤตินั้น นางธาริษา กล่าวว่า แม้จะตัดประเด็นดังกล่าวออกไป แต่ธปท.ก็ยังมีเครื่องมืออื่นที่ใช้ดูแลเศรษฐกิจได้โดยไม่จำเป็นต้องนำเงินสำรองดังกล่าวมาใช้ และเชื่อว่าภาวะวิกฤติคงจะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงอย่างน้อยอีก 10 ปีจากนี้
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--