นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ (SIRI) กล่าวในงานสัมมนา "วัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย" ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนนี้ การอยู่รอดให้ได้ก่อนเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่สุด การจะให้วัคซีนที่สำคัญๆ แก่ประเทศไทยในช่วงนี้ มองว่าควรเป็นวัคซีน 3 เข็มหลัก คือ 1. การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก ส่วนการจะแก้ไขไปในทิศทางใดนั้น ทุกฝ่ายต้องหันมามาคุยกันด้วยความประนีประนอม เข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันของทุก generation แก้ไขในวาระที่สมควรต้องแก้
"เราอยากได้ความจริงใจจากทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายค้าน แต่ต้องเหมาะสมกับจารีตประเพณีของไทย และตามกลไกที่ถูกต้อง ไม่ fast track หรือดึงเวลา แต่ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย...ไม่อยากเห็นประเด็นการเมืองไปฉุดเศรษฐกิจไม่ให้โตได้ตามที่เราควรจะเป็น" นายเศรษฐาระบุ
ส่วนวัคซีนเข็มที่ 2 คือ การกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนในประเทศได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง โดยมองว่าการพึ่งพาวัคซีนโควิดโดยการจัดหาจากรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวอาจจะช้าไป ดังนั้นหากให้เอกชนเข้ามาช่วยในส่วนนี้ก็จะทำให้การกระจายวัคซีนในประเทศทำได้ทั่วถึงและรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยสามารถเปิดประเทศได้เร็วขึ้น และช่วยในการฟื้นเศรษฐกิจด้วย
"ขอรณรงค์ให้เอกชนนำเข้าวัคซีน ชนิดที่ได้รับการอนุมัติจาก อย.แล้ว โดยที่รัฐบาลนำเข้ามาฉีดได้ เอกชนก็ควรจะนำเข้ามาฉีดได้ เพื่อให้ effective อย่างกว้างขวาง" นายเศรษฐาระบุ
ส่วนวัคซีนเข็มที่ 3 คือ การช่วยภาคธุรกิจให้สามารถเดินต่อได้ โดย 2 ประเด็นสำคัญ คือ การช่วยลดรายจ่าย และการช่วยเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการช่วยสนับสนุนเงินเดือนหรือค่าจ้าง เพื่อช่วยในการพยุงการจ้างงานของธุรกิจเหล่านั้นไว้ให้มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การโรงแรม สายการบิน เพราะเมื่อเศรษฐกิจกลับมา ธุรกิจเหล่านี้ก็จะสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้
ด้านนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) มองว่า วัคซีน 6 ด้าน ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1. การสร้างภูมิคุ้มกันและแต้มต่อให้ SMEs ซึ่งเป็นการสร้างแต้มต่อและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ SMEs เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs มีสัดส่วนถึง 99.8% ของธุรกิจในประเทศ คิดเป็นผู้ประกอบการถึง 3.1 ล้านราย และมีการจ้างงานถึง 38 ล้านคน 2. การสร้างภูมิคุ้มกันให้โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และเหมาะสมกับบริบทของไทย 3. การสร้างภูมิคุ้มกันให้โครงสร้างรายได้ โดยการเพิ่มฐานและลดการกระจุกตัวของภาษีทั้งในส่วนภาษีของประชาชน และภาษีของบริษัทที่อยู่ในระบบ 4. การสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจในภูมิภาค โดยต้องมีการกระจายอำนาจและสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่ให้กับแต่ละท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การกระจายรายได้ที่ดีกว่าในระดับท้องถิ่น 5. การสร้างภูมิคุ้มกันผ่านการพัฒนาโครงสร้างสำหรับอนาคต ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างและทรัพยากรดิจิทัล 6. การสร้างความสะดวกให้กับการทำธุรกิจ โดยการยกเครื่องกฎหมาย ลดขั้นตอน และลดความยุ่งยาก
"เมื่อพูดถึงวัคซีน แปลว่าเราต้องการสร้างภูมิคุ้มกันอะไรบางสิ่งบางอย่าง แต่เรายังมีความเปราะในบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งนั่นคือความเปราะบางทั้ง 6 ด้านที่ได้พูดถึง ดังนั้นถึงเวลาแล้ว ที่ประเทศไทยต้องอย่า waste good crisis หมดเวลาที่เราจะปล่อยให้เศรษฐกิจเลื่อนไปตามทางเลื่อนอัตโนมัติ โดยหวังให้แรงโน้มถ่วงของโลกค่อยๆ พาเราไป และอย่าตั้งความหวังว่าวัคซีนมา โควิดหายแล้วเราจะใช้ชีวิตเหมือนเดิม เราใช้ชีวิตเหมือนเดิมไม่ได้ ไม่เช่นนั้น เราจะติดในหล่มแบบนี้ไปอีก" นายปิติกล่าว