นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)ในเดือน ส.ค.50 อยู่ที่ระดับ 116.7 ลดลง 0.5% จากเดือน ก.ค.50 แต่เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.49
สาเหตุที่ CPI เดือน ส.ค.50 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.50 ลดลง 0.5% ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงค่อนข้างมากหลังจากที่ไม่เปลี่ยนแปลงติดต่อกันมา 2 เดือน มีปัจจัยหลักจากการลดลงของราคาสินค้าหมวดผักและผลไม้ ส่งผลให้ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มลดลง 0.6% ขณะเดียวกันการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงส่งผลให้ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 0.4%
สินค้าสำคัญที่มีราคาลดลงได้แก่ ผักคะน้า, ผักชี, แตงกวา, โทรศัพท์มือถือ และปูนซีเมนต์
ส่วนสาเหตุที่ CPI เดือน ส.ค.50 สูงขึ้นจากเดือน ส.ค.49 เพียง 1.1% ซึ่งเป็นอัตราการสูงขึ้นที่ชะลอตัวลงมาตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 4.3% ซึ่งมาจากสินค้าข้าวสารเหนียวสูงขึ้น 38.4% ไก่สดสูงขึ้น 15.1% ผักและผลไม้สูงขึ้น 12.2%
CPI เฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ส.ค.)เพิ่มขึ้น 1.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ส.ค.50 อยู่ที่ระดับ 105.6 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน ก.ค.50 แต่เพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.49
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังคาดว่า CPI ในเดือนก.ย.50 จะปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน ส.ค. เนื่องจากราคาสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่ราคาเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต โดยมีผลตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจอีก 4% จะไม่มีผลให้ CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการรับรู้ข่าวนี้มาหลายเดือนแล้ว
พร้อมคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ จะยังอยู่ในระดับไม่เกิน 1.5-2.5%
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--