นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ประธานการขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 ซึ่งคาดการณ์ว่าในปีนี้ จะมีผลผลิตโดยรวมประมาณ 5.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 23% จากปี 2563 ดังนั้นจึงต้องร่วมมือกันทำงานหนัก เพราะผลผลิตจะออกมาก จึงได้มีมาตรการเชิงรุก 16 มาตรการ ในการช่วยเหลือผลไม้ไทยปี 64 ประกอบด้วย
1. เร่งรัดการตรวจรับรอง GAP ที่เป็นเอกสารสำคัญในการส่งออกผลไม้ไทย โดยกรมวิชาการเกษตร จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ตั้งเป้าหมายว่าปี 2564 จะตรวจรับรองให้เสร็จสิ้นอย่างน้อย 120,000 แปลง
2. ผ่อนปรนกฎระเบียบการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งปีที่แล้วสามารถขนย้ายแรงงานเพื่อเก็บผลไม้ข้ามจังหวัดได้ ส่วนปีนี้จะกำหนดมาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานเก็บผลไม้จากภาคตะวันออกไปสู่ภาคใต้ได้ด้วย
3. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะสนับสนุนกำลังพลในการช่วยเก็บเกี่ยวและขนย้ายผลไม้ เช่น ลองกอง จากสวนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
4. ส่งเสริมการรับซื้อผลไม้ของผู้ประกอบการที่รวบรวมผลไม้ กิโลกรัมละ 3 บาท
5. สนับสนุนให้มีรถเร่ไปซื้อผลไม้ เพื่อนำไปขายปลีกให้กับผู้บริโภคจำนวน 4,000 ตัน โดยกระทรวงพาณิชย์ ช่วยสนับสนุนรถเร่คันละ 1,500 บาท ให้กระจายผลไม้ได้คล่องตัวขึ้น
6. สำหรับผลไม้ที่จะส่งไปขายผ่านไปรษณีย์ไทย จะช่วยสนับสนุนลดค่าใช้จ่าย จาก 10 กิโลกรัม 95 บาท ลดเหลือ 30 บาท ส่งเสริมให้ชาวสวนขายผลไม้ผ่านไปรษณีย์ ตั้งเป้าหมายไว้ 2,000 ตัน จากปีที่แล้ว 400 ตัน
7. กระทรวงพาณิชย์จะประสานงานเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรจำหน่ายผลไม้โดยตรง ได้ที่ตลาดกลาง ตลาดสด สนามบิน ห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ห้างท้องถิ่น รวมถึงปั๊มน้ำมัน
8. ช่วยเร่งรัดผลักดันการส่งออกผลไม้ และสนับสนุนผู้ส่งออกผลไม้ กิโลกรัมละ 2.50 บาท มีเป้าหมาย 60,000 ตัน
9. ใช้อมก๋อยโมเดล หรือเรียกว่า "เกษตรพันธสัญญา" ทำสัญญาล่วงหน้าให้เกษตรสามารถขายผลไม้ได้ปริมาณ 20,000 ตัน
10. การนำผลไม้ขึ้นเครื่องบิน โดยปีนี้กระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับทุกสายการบิน และให้ความร่วมมือในการเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินได้ 25 กิโลกรัมฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่าย
11. กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ส่งเสริมการค้าออนไลน์ โดยจัดอบรมกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์หรือรูปแบบอื่นๆ ให้มีความรู้ในการขายผลไม้ออนไลน์ และสนับสนุนให้ไปขายบนแพลตฟอร์ม ที่ปีนี้เพิ่มเป็น 11 แพลตฟอร์ม
12. ส่งเสริมการขายผลไม้ในตลาดต่างประเทศอย่างเข้มข้น จัดงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 วันที่ 29 ก.ย. ถึง 3 ต.ค.64 จัดกิจกรรม Thai Fruit Golden Months โดยปีนี้จัด 14 เมืองของจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของประเทศไทย และนำผู้ประกอบการผลไม้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ
13. ส่งเสริมการส่งออกออนไลน์ผลไม้ไทย โดยจัดให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกจะจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ให้ทีมเซลล์แมนประเทศเป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่เดือนมี.ค. - พ.ย. 64 เช่น จัดงาน In-Store Promotion หรือจัดตามห้างสรรพสินค้าประเทศต่างๆ เช่น อินเดียจัดในเดือนมิ.ย. และเจรจาจับคู่ธุรกิจด้วยระบบออนไลน์ 40 บริษัทส่งออกผลไม้ไทย และผู้นำเข้า 170 บริษัทจากทั่วโลกวันที่ 25 มี.ค.64
14. ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ไทยในต่างประเทศ ในรูปแบบผสมผสานที่เรียกว่าไฮบริด ปีนี้จัด 7 ครั้ง เพื่อส่งเสริมการส่งออกผลไม้ไทย จับคู่ซื้อผลไม้จริงด้วยระบบไฮบริดในประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา เอเชียใต้ อินเดียบังกลาเทศ ปากีสถาน เป็นต้น
15. เร่งการประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นให้ผลไม้ไทย โดยทำสื่อ 5 ภาษา คือ อังกฤษ ไทย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี
16. กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะบังคับใช้มาตรการทางกฏหมายโดยเคร่งครัด ทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ให้ล้งรับซื้อผลไม้ต้องติดป้ายราคารับซื้อ ณ เวลา 8.00 น. ทุกวัน เพื่อเกษตรกรจะได้รู้ล่วงหน้า พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด จับกุมผู้โกงน้ำหนักดัดแปลงเครื่องชั่งเอาเปรียบเกษตรกร พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าป้องกันการผูกขาด การฮั้วและการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมโดยเคร่งครัด
"ขอให้ทุกหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง รับไปปฏิบัติโดยเคร่งครัด และทีมเซลล์แมนจังหวัด และทีมเซลล์แมนประเทศ ในการขับเคลื่อนผลไม้ไทยปี 2564" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าว