นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หากมองไปข้างหน้า สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างเห็นความชัดเจน แต่ในส่วนของเศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้เวลาอีกระยะ ซึ่งคาดว่า GDP ของไทยกว่าจะกลับมาเติบโตได้เท่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิดจะอยู่ในช่วงไตรมาส 3/65 แต่การกลับมาของ GDP ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างจะฟื้นกลับมาได้ปกติ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะการจ้างงาน รายได้ ยังไม่กลับมาเท่าเดิม ซึ่งนอกจากการฟื้นตัวที่ต้องใช้ระยะเวลาแล้ว ยังเป็นการฟื้นตัวได้ไม่เท่าเทียมกันในแต่ภาคธุรกิจด้วย
โดยเฉพาะการฟื้นตัวในภาคบริการต่างๆ เช่น กลุ่มท่องเที่ยว ยังมีอัตราการฟื้นตัวต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก และคาดว่าต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว อย่างน้อย 4-5 ปี กว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาได้ที่ระดับ 40 ล้านคนต่อปี
ดังนั้น มาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เรามองไปข้างหน้า จำเป็นต้องออกมาตรการใหม่เพื่อตอบโจทย์ 2 เรื่อง คือ 1.มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ วงเงิน 250,000 ล้านบาท เน้นผู้ประกอบการที่ถูกผลกระทบจากวิกฤติ แต่ยังมีศักยภาพและต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน โดยเน้นการปลดล็อคสำคัญต่างๆ จาก พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.ซอฟท์โลน) เดิม เพื่อให้ลูกหนี้ได้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น คือ ขยายขอบเขตของลูกหนี้ที่เข้าถึงได้ ขยายเวลาให้ยาวขึ้น ขยายวงเงิน กำหนดดอกเบี้ยให้เหมาะสม ขยายการชดเชยรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น
มาตรการชุดที่ 2 พักทรัพย์พักหนี้ เป็นมาตรการให้ลูกหนี้ตีโอนทรัพย์ โดยมีสิทธิซื้อคืนกลับได้ ซึ่งประโยชน์คือช่วยลดภาระลูกหนี้ ให้โอกาสลูกหนี้ซื้อทรัพย์คืนกลับมาได้ ลดความเสี่ยงในการขายทรัพย์สินในราคาต่ำเกินไป และช่วยให้ธุรกิจกลับมาเปิดกิจการได้ เป็นช่วยรักษาการจ้างงานไว้
"แนวทางที่เราจะปรับปรุงจากเดิม คือเน้นการออกมาตรการให้ยืดหยุ่นมากขึ้น รองรับความไม่แน่นอนที่มีอยู่ ออกแบบให้มีความสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เหมาะสมได้ และครอบคลุมปัญหาที่หลากหลาย แก้ปัญหาตรงจุดมากขึ้น ที่สำคัญคือ โครงการนานขึ้น ตามที่เราคาดว่าการฟื้นตัวจะใช้เวลานาน โดยเฉพาะในบาง sector ก่อนที่จะกลับมาสู่ภาวะปกติ" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ