นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา "เศรษฐกิจไทยจะไปต่อได้อย่างไร" ถึงภาพของเศรษฐกิจและแรงงานในอีก 30 ปีข้างหน้าหรือในปี 93 ว่า ในอนาคตภาคอุตสาหกรรมจะมีกระบวนการทำงานทั้งหมดเป็นระบบหุ่นยนต์ หากลองมองย้อนถอยหลังมาเรื่อยๆ ในปี 68 ที่ใกล้จะถึงนี้ จะมีการใช้หุ่นยนต์ในสัดส่วนประมาณ 25% ส่งผลให้ทุกภาคส่วนมีความจำเป็นที่จะต้องปรับสัดส่วนแรงงานใหม่ โดยเฉพาะในระบบโลจิสติกส์ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด มีแรงงานอยู่ประมาณ 1 หมื่นคนจากแรงงานทั้งหมด 4 หมื่นคน ในอนาคตอาจเหลืองานเพียง 1 พันตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะหายไปกว่า 70%
หากมองในมุมของภาคเอกชน สิ่งที่มีความสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการจ้างงาน เพื่อที่จะสามารถอยู่รอดในยุคของหุ่นยนต์ได้นั้น แรงงานจะต้องเตรียมพร้อมในการ Re-skill และ Up-skill เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันในอนาคต และพร้อมรับกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
นายฐาปน กล่าวว่า ไม่เพียงภาคเอกชนเท่านั้น แรงขับเคลื่อนที่น่าจับตามองอีกอย่าง คือเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ และความสามารถด้านดิจิทัล ก็เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการค้า และเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าเช่นกัน ทั้งนี้เยาวชนเองต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างวัฎจักรใหม่ในครอบครัวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจำเป็นต้องปลูกฝังทั้งหมด 3 ทักษะคือ ต้องมีวินัยทางการเงิน มีความเข้าใจด้านการตลาด และมีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาชุมชน และพัฒนาในศักยภาพของมนุษย์ระดับเศรษฐกิจฐานราก ให้มีความสามารถสู้กับหุ่นยนต์ในอนาคต
พร้อมมองว่า จำเป็นต้องปฎิบัติตามแนวคิด "มองโลก มองเรา จัดการตัวเรา เขย่าโลก" โดยมีเป้าหมายหลักคือ "การเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข" เพื่อการอยู่รอด (Survive) อยู่อย่างเพียงพอ (Sufficient) และการอยู่อย่างยั่งยืน (Sustain) โดยชุมชนต้องลงมือทำ เอกชนจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อน และรัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุน
"เมื่อลองมองรายได้จากสินค้าโอทอป (OTOP) ในปี 58 มีอยู่ที่ 109,000 ล้านบาท ซึ่งมีการเติบโตเรื่อยๆ แบบเลขสองหลัก (Double-Digit) จนในปี 63 อยู่ที่ 257,000 ล้านบาท ถึงแม้รายได้ทั้งหมด จะมาจากชุมชน แต่ก็มีสัดส่วนที่น้อยกว่า 2% ของ GDP รวมทั้งประเทศ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงได้" นายฐาปน กล่าว
นายฐาปน กล่าวว่า ประชาชนของแต่ละชุมชนควรหันมาสนใจในการทำเกษตรกรรมที่อยู่ใกล้ตัวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อที่จะนำไปสู่กระบวนการการผลิต และแปรรูปสินค้าให้เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการท่องเที่ยวชุมชนที่จะมากขึ้นด้วย