นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินครั้งที่ 2/2564 (ครั้งที่ 13) ว่า การส่งมอบพื้นที่จะแบ่งเป็น 2 เฟส คือ ส่วนนอกเมืองตั้งแต่ สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ซึ่งจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ให้เอกชนเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้างได้ ภายในวันที่ 24 ต.ค 64
ส่วนพื้นที่ในเมืองตั้งแต่ พญาไท-ดอนเมือง มีกำหนดส่งภายใน 2 ปี หรือภายในเดือนต.ค. 66 ซึ่งจากการติดตามความพร้อมคาดว่าจะสามารถเร่งรัดและส่งมอบได้ไม่เกิน เดือน ธ.ค. 65 โดยที่ประชุมได้เร่งรัดการรื้อย้าย ท่อน้ำมันของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) ท่อน้ำมันของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) และอาคารไซฟ่อน (คลองส่งน้ำ) บริเวณคลองสามเสน ของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.)
สำหรับพื้นที่เวนคืนประมาณ 908 แปลง หรือประมาณ 750 สัญญา ขณะนี้มีประชาชนเข้ามาทำสัญญาแล้ว 78% ที่เหลือคาดว่าจะทยอยเข้ามาในเดือนเม.ย.และคาดว่าจะเซ็นสัญญาได้หมดช่วงปลายเดือนส.ค.-ต้นก.ย. 2564 ส่วนกรอบวงเงินเวนคืนที่เพิ่มขึ้น จาก 3,500 ล้านบาท เป็น 5,600 ล้านบาท จะเสนอขอขยายกรอบวงเงินค่าเวนคืนจากครม.วันที่ 30 มี.ค.โดยขอใช้งบกลาง 600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือรฟท.จะใช้งบประมาณประจำปีดำเนินการ
กรอบวงเงินเวนคืนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 2,100 ล้านบาท เนื่องจากราคาที่ดินเพิ่มขึ้นจากกรอบประเมินเดิมทำไว้ตั้งแต่ปี 60 เมื่อมีการสำรวจพื้นที่ก่อสร้างจริง และประเมินราคาที่ดินในปัจจุบันตามราคาตลาด ตามพ.ร.บ.เวนคืนฯ ผู้ถูกเวนคืนมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนเพิ่ม และมาจากการขยายพื้นที่เขตทางเพิ่มจาก 25 เมตรเป็น 35-50 เมตรในบางจุด เพื่อให้เพียงพอต่อรัศมีโค้ง จุดเบี่ยงหลบประตูน้ำกรมชลประทาน และพื้นที่สำหรับวางเครื่องจักรขนาดใหญ่เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยการทำงาน และประชาชนในขณะก่อสร้าง ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง และอีกส่วนเป็นวงเงินเผื่ออุทธรณ์
ส่วนการย้ายตำแหน่งสถานีนั้น นายชยธรรม์ ยืนยันว่า ทางเอกชนไม่ได้เสนอมา ดังนั้น ทุกอย่างยังเป็นไปตามเดิม ส่วนในอนาคต เอกชนมีสิทธิในการขอเพิ่มหรือขอย้ายได้ ซึ่งจะเป็นการพิจารณาเพื่อเพิ่มความสะดวกในการบริการ