องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) สำนักงานกรุงเทพฯ เผยผลการสำรวจแนวโน้มการลงทุนของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำปี พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 5 ต.ค.63-12 มี.ค.64 จากที่เคยสำรวจครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อนในเดือน ต.ค.60 โดยการสำรวจครั้งนี้ได้ตรวจสอบและยืนยันสถานะการประกอบธุรกิจญี่ปุ่นในไทย 5,856 บริษัท และมีจำนวนบริษัทเพิ่มขึ้น 412 บริษัท จากการสำรวจครั้งก่อนที่ 5,444 บริษัท
นายทาเคทานิอัทสึชิ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า แม้ว่าจะตกอยู่ภายใต้ความยากลำบากอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทยยังคงเพิ่มจำนวนมากกว่า 400 บริษัท และมีบริษัทที่ยังดำเนินกิจการต่อไปได้อยู่ถึง 5,856 บริษัท
"เจโทร กรุงเทพฯ ยังคงสนับสนุนการลงทุนของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างแข็งขัน เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ไทยและญี่ปุ่น"
โดยบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม มากสุดเป็นอันดับ 1 คือ อุตสาหกรรมการผลิต (2,344 บริษัท) รองลงมาอันดับ 2 คือการค้าส่งและการค้าปลีก (1,486 บริษัท) ตามด้วยอันดับ 3 คือ การบริการ (1,017 บริษัท) โดยกิจการเกี่ยวกับการบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 121 บริษัท จากการสำรวจครั้งก่อนที่ 896 บริษัท เพิ่มเป็น 1,017 บริษัท นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ทำการสำรวจที่จำนวนบริษัททะลุ 1,000 บริษัท ส่วนในอุตสาหกรรมภาคการผลิตไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงนักเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าที่ 2,346 บริษัท ลดลงเหลือ 2,344 บริษัท และในอุตสาหกรรมการค้าส่งและการค้าปลีก จากการสำรวจครั้งก่อนหน้ามีจำนวน 1,360 บริษัท เพิ่มขึ้น 126 บริษัท เป็น 1,486 บริษัท (การค้าส่ง 1,392 บริษัท และการค้าปลีก 94 บริษัท)
เมื่อพิจารณาสัดส่วนการจำแนกขนาดบริษัทผู้ถือหุ้นฝ่ายญี่ปุ่น สัดส่วนของบริษัทที่ผู้ถือหุ้นฝ่ายญี่ปุ่นเป็นบริษัทขนาดใหญ่ 47.6% ของทั้งหมด เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมรวมถึงบุคคลธรรมดา 52.4% ของทั้งหมด เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ต่อเนื่องจากการสำรวจครั้งก่อน
เมื่อพิจารณาสัดส่วนของบริษัทจำแนกตามที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ พบว่ามีการกระจุกตัวอยู่ในกรุงทพฯ และเขตปริมณฑลเป็นหลัก ซึ่งจำนวนบริษัทที่ตั้งอยู่ใน 10 จังหวัด คิดเป็นจำนวนถึง 95% ของบริษัททั้งหมด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนบริษัทที่ตั้งอยู่มากถึง 53%