นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) จำนวน 3 สัญญา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทคู่สัญญา ได้แก่
สัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ ผู้แทนจากบริษัท เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด วงเงินก่อสร้าง 11,525 ล้านบาท
สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ผู้แทนจาก บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) วงเงินก่อสร้าง 6,573 ล้านบาท
สัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี ผู้แทนจาก บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสรัคชั่น (UNIQ) วงเงินก่อสร้าง 9,429 ล้านบาท
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ยังมี 4 สัญญาที่เหลือจะเร่งประมูลให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ขณะที่มีบางสัญญายังมีข้อพิพาท อย่างไรก็ดี ตามนโยบายเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2569 หรืออย่างช้าในปี 2570
โดยสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ขณะนี้กำลังเจรจากับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ คาดจะส่งมอบพื้นที่ได้ในปีนี้
สำหรับช่วงระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย คาดว่าผลการศึกษาสำรวจออกแบบได้เสร็จใน ก.ค.64 ซึ่งโจทย์ของรัฐบาลต้องการให้เส้นทางนี้ใช้ทางเลี่ยงเมือง เพื่อจะได้มีผลกระทบน้อยที่สุด โดยจะมี Feeder มาให้บริการ และคาดว่าจะเสร็จเปิดให้บริการหลังระยะที่1 ราว 3-4 ปี หรือในปี 72-73
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า สำหรับสัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟเป็นทางยกระดับ 23 กม. งานก่อสร้างทางวิ่งเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้า งานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายรางและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ
สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ประกอบด้วย ทางรถไฟระดับพื้นในศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารภายในศูนย์ซ่อมบำรุงรวมถนนต่อเชื่อม ได้แก่ อาคารระบบซ่อมบำรุงขบวนรถไฟ 19 อาคาร อาคารควบคุมระบบการจัดการเดินรถและฝึกอบรม 4 อาคาร อาคารสำหรับระบบซ่อมบำรุงทาง 8 อาคาร งานก่อสร้างถนนงานระบบระบายน้ำและงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ
สัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟ ระยะทางรวม 31.60 กม. แบ่งเป็น คันทางระดับดิน 7.02 กม. และทางยกระดับ 24.58 กม. งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้า 7 แห่ง รวมทั้งงานรื้อย้ายสถานีเดิม งานปรับปรุงย้ายถนนเดิม งานก่อสร้าง สะพานข้ามทางรถไฟ งานระบบระบายน้ำ และงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ