"ปิยสวัสดิ์"ยันรัฐไม่อุดหนุนราคาน้ำมัน/เปิดทางกู้กองทุนฯ สร้างรถไฟฟ้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 13, 2007 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันนท์ รมว.พลังงาน ยืนยันว่า รัฐจะไม่เข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมันแม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น 8-10 เหรียญ/บาร์เรล เนื่องจากมองว่าปัญหาราคาน้ำมันแพงเป็นสถานการณ์ชั่วคราว เพราะขณะนี้กำลังการผลิตน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก 
พร้อมกันนี้จากที่โอเปคมีมติจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 5 แสนบาร์เรล/วัน จึงคาดว่าจะช่วยทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกอ่อนตัวลงได้บ้าง ขณะเดียวกันเงินบาทที่แข็งค่าก็มีส่วนทำให้ราคาน้ำมันที่นำเข้าไม่สูงมาก นอกจากนี้เห็นว่าราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปีนี้ยังต่ำกว่าปีก่อน ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ไม่ควรจะเข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมัน
"ถ้าจะเข้าไปชดเชยราคาน้ำมัน ก็เท่ากับเอาเงินประชาชนเข้ามาใส่ในเงินกองทุน แต่ผมคิดว่าจ่ายวันนี้ดีกว่า สรุปแล้วจะยังไม่ควรที่จะ subsidy เพราะราคาไม่ได้เพิ่มมากมาย" รมว.พลังงาน กล่าว
โดยภายในปีนี้กระทรวงพลังงานตั้งเป้าว่าจะใช้หนี้กองทุนน้ำมันได้หมด โดยล่าสุดในเดือนส.ค.ยังมีหนี้กองทุนน้ำมันอยู่อีกประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท
นายปิยสวัสดิ์ ระบุว่า กระทรวงพลังงานมีแนวคิดจะปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลงประมาณ 1 บาท/ลิตร หลังหมดภาระหนี้สินกองทุนน้ำมัน ซึ่งหากรัฐบาลหรือกระทรวงคมนาคมต้องการจะกู้ยืมเงินจากกองทุนน้ำมันไปใช้ในการดำเนินโครงการก่อสร้างขนส่งมวลชนระบบรางก็สามารถทำได้ โดยคาดว่าจะมีเงินให้กู้ยืมได้ถึง 2 พันล้านบาท/เดือน
รมว.พลังงาน ยังแนะให้รัฐบาลใหม่เตรียมการเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินการยาวนานถึง 13 ปี โดย 7 ปีแรกเป็นช่วงเตรียมการศึกษา ส่วน 6 ปีที่เหลือเป็นระยะเวลาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ โดยทุกวันนี้เห็นว่าก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศจะไม่เพียงพอกับความต้องการ ในขณะที่พลังงานทดแทนอื่นๆ ก็ยังมีไม่มากและยังมีปริมาณที่จำกัด ประกอบกับราคาน้ำมันจะยังคงทรงตัวในระดับสูง
"ผมดูแล้วพลังงานอื่นๆ จะมีข้อจำกัด เพราะฉะนั้นเรื่องพลังงานนิวเคลียร์รัฐบาลใหม่ควรจะใช้เป็นทางเลือกของพลังงานในอนาคต ตอนนี้ยังไม่ต้องตัดสินใจ แต่ให้เตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อน 7 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการหาพลังงานในอนาคต" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ได้วางรากฐานด้านพลังงานโดยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพที่ทัดเทียมมาตรฐานสากล และเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาสานต่อนโยบายได้ทันที โดยเฉพาะหนี้กองทุนน้ำมัน
นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่เดินหน้าพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เช่น พลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการจัดหาพลังงาน เช่น การประมูลโรงไฟฟ้า IPP

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ