นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ นอกจากนี้ความเชื่อมั่นที่สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ภายในประเทศที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมาตรการของภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการพยุงกำลังซื้อของผู้บริโภค
- เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 12.3% และ 0.6% จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หรือหดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -30.7% และ -5.9% ต่อปีตามลำดับ สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ 7.7% ต่อปี เช่นเดียวกันกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 49.4 จากระดับ 47.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ภายในประเทศเริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับมีความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายในประเทศ รวมถึงมาตรการของภาครัฐช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
- เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวที่ 18.6% ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวในอัตราชะลอลงที่ -2.3% ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวที่ 0.9% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่นเดียวกันกับภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมาขยายตัว 2.9% ต่อปี
- มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ลดลง -2.6% ต่อปี แต่เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ พบว่าขยายตัวที่ 4.0% ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ และยางพารา ขยายตัว 46.6% 42.9% และ 22.9% ต่อปี ตามลำดับ รวมถึงการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องปรุงรส ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น และ 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยางที่ยังคงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ดี การส่งออกทองคำ และสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงลดลง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่าตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องที่ 19.7% ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย จีน และเอเชียใต้ ขยายตัวที่ 18.3% 15.7% และ 13.9% ต่อปีตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปตลาดอาเซียน 9 ประเทศ ยังคงลดลงที่ -11.8% ต่อปี
- เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 85.1 จากระดับ 83.5 ในเดือนมกราคม 2564 โดยได้รับมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโควิด-19 ของภาครัฐ ส่งผลให้การดำเนินกิจการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อของภาครัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
- บริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 5,741 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร และจีน เป็นต้น ในขณะที่ภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงเล็กน้อยที่ -1.4% ต่อปี จากการลดลงของผลผลิตข้าวเปลือก และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -1.2% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.04% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ 52.0% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 253.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ