นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะจากด้านการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เริ่มคลี่คลายลง
- ภาคตะวันออก
เศรษฐกิจภาคตะวันออก ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากด้านการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดี สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 20% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.6% ต่อปี นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว 185.9% ต่อปี ด้วยจำนวน 7.0 พันล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าชะลอตัวที่ -53.7% ต่อปี โดยเป็นเงินทุนของโรงงานผลิตและประกอบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ในจังหวัดปราจีนบุรีเป็นสำคัญ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนทรงตัว สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -2.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัวลงที่ร้อยละ -10.4 ต่อปี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 52.3 และ 105.5 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.6 และ 104.7 ตามลำดับ
- ภาคเหนือ
เศรษฐกิจภาคเหนือ ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากด้านการลงทุนภาคเอกชน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดี สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 9.4% และ 19.5% ต่อปีตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 7.9% และ -1.3% ต่อปีตามลำดับ นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการกลับมาขยายตัวอยู่ที่ 15.3% ต่อปี ด้วยจำนวน 0.3 พันล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าชะลอตัวที่ -23.9% ต่อปี โดยเป็นเงินทุนของโรงงานผลิตแอสฟัลติกคอนกรีต ในจังหวัดเชียงราย เป็นสำคัญ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 0.4% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าชะลอตัวที่ -8.6% ต่อปี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 51.0 และ 61.7 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 49.6 และ 62.6 ตามลำดับ
- ภาคกลาง
เศรษฐกิจภาคกลาง ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากด้านการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 0.4% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัว -15.0% ต่อปี นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ขยายตัว 445.7% ต่อปี ด้วยจำนวน 0.6 พันล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัว -64.0% ต่อปี จากโรงงานผลิตภัณฑ์ไก่ดิบเสียบไม้และผลิตภัณฑ์ไก่ยางและนึ่งพร้อมปรุงรสสำเร็จรูปถนอมอาหาร ในจังหวัดสระบุรีเป็นสำคัญ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ -17.3% -11.6% และ -9.5% ต่อปีตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 47.9 และ 86.3 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.3 และ 83.9 ตามลำดับ
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล
เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากด้านการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ 6.7% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าขยายตัวที่ 1.2% ต่อปี นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว 66.7% ต่อปี ด้วยจำนวน 2.8 พันล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัวลงอยู่ที่ -54.0% ต่อปี จากโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่ทำจากแป้ง ในจังหวัดสมุทรสาครเป็นสำคัญ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ -24.1% -17.9% และ -8.1% ต่อปีตามลำดับ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 48.5 และ 86.3 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 46.7 และ 83.9 ตามลำดับ
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากด้านการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 3.4% และ 18.0% ต่อปีตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -7.8% และ 9.2% ต่อปีตามลับดับ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้จากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ที่ขยายตัว 2.8% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าชะลอตัวลงที่ -2.6% ต่อปี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 52.7 และ 78.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.3 และ 75.8 ตามลำดับ
- ภาคใต้
เศรษฐกิจภาคใต้ส่งสัญญาณทรงตัว ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวได้ดีอยู่ที่ 4.6% และ 50.5% ต่อปี ตามลำดับ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ -33.2% -7.3% และ -17.3% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 46.0 และ 84.6 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 44.8 และ 82.9 ตามลำดับ
- ภาคตะวันตก
เศรษฐกิจภาคตะวันตกส่งสัญญาณทรงตัว ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 0.9% และ 26.3% ต่อปี ตามลำดับ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ -11.7% -11.5% และ -10.3% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 47.9 และ 86.3 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.3 และ 83.9 ตามลำดับ