นางสาวพรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จ๊อบส์ ดีบี ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานหลังวิกฤต พบว่า ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 จำนวนความต้องการแรงงานในประเทศไทยทั้งจากบนแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่น ๆ ฟื้นขึ้นจากจุดต่ำสุดถึง 24.65%
สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานไทยผ่านจำนวนความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ ว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดจากช่วงเดือนเมษายน 2563 และเดือนธันวาคม 2563 จากการระบาดระลอกที่ 2 และคาดการณ์ว่าจำนวนประกาศงานทั้งประเทศจะกลับมาเป็นบวก 5% ในกลางปี 2564 (เมื่อเทียบกับกลางปี 2563) และจะฟื้นตัวเท่ากับก่อนวิกฤตการณ์โควิด-19 ในต้นปี 2565 หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่
ในส่วนของความต้องการ เมื่อแบ่งตามสายงานจากจำนวนประกาศงานบนจ๊อบส์ ดีบี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 พบว่า กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่
1) สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 16.0%
2) สายงานไอที คิดเป็น 14.7%
3) สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 9.8%
และในส่วนของการฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มสายงาน พบว่า กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่
1) สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 29.7%
2) สายงานขนส่ง คิดเป็น 24.7%
3) สายงานการผลิต คิดเป็น 20.8%
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีสายงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 อาทิ นักพัฒนาเอไอ ที่ปรึกษาด้านบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญ Business Transformation รวมถึง Growth Officer
ในด้านมุมมองกลุ่มธุรกิจ พบว่า ธุรกิจที่มีสัดส่วนจำนวนประกาศงานสูงสุด ได้แก่
1) กลุ่มธุรกิจไอที คิดเป็น 12.9%
2) กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 8.1%
3) กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง คิดเป็น 6.6%
และในส่วนของธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุด เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่
1) กลุ่มธุรกิจประกันภัย คิดเป็น 42.9%
2) กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็น 41.9%
3) กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 37.7%
นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการแข่งขันในการหางานของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 20% ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 และมีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ใบสมัคร โดยการแข่งขันมีการกระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มคนทำงานที่เงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท