น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ซึ่ง BIMSTEC ประกอบด้วยสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาณ อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย
โดยจะมีการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลในวันที่ 1 เมษายน 2564 มีประเทศศรีลังกาเป็นเจ้าภาพและประธาน และประเทศไทย จะรับหน้าที่เป็นประธานต่อจากนั้น
สำหรับสาระของแถลงการณ์ร่วม ประกอบด้วย การพิจารณาร่างกฎบัตรบิมสเทค เพื่อเสนอให้ที่ประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 ในประเด็น 1.ยกระดับให้บิมสเทคเป็นองค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล (Inter-government organization) โดยกำหนดวัตถุประสงค์ หลักการ กลไกการดำเนินงาน สิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิก การบริหารจัดการงบประมาณ และเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.จัดหมวดหมู่สาขาความร่วมมือ 7 เสา โดยให้ประเทศสมาชิกเป็นผู้นำในแต่ละเสา ดังนี้ 1) เสาการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (เมียนมา) 2) เสาความเชื่อมโยง (ไทย) 3) เสาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (ภูฏาน) 4) เสาการค้า การลงทุน และการพัฒนา (บังกลาเทศ) 5) เสาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (ศรีลังกา) 6) เสาความมั่นคง (อินเดีย) และ 7) เสาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน (เนปาล)
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า ในการประชุมจะมีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยเน้นในเรื่องการผลักดันร่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม ที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันภายในภูมิภาค