นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "มาตรการรัฐ : ขับเคลื่อนอสังหาฯ ฟื้นเศรษฐกิจไทย" โดยยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยปี 64 ยังโตช้า คาดอัตราการขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% แต่รัฐบาลจะพยายามผลักดันให้ขยายตัวได้ถึง 4% ก่อนกลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็วในปี 66-67 ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคธุรกิจต้องไปด้วยกัน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้น แม้จะเป็นการฟื้นตัวแบบช้า ๆ ก็ตาม
"ผมได้ชี้แจงในที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนไปว่า ตัวเลข GDP จะขยายตัวต่ำหรือสูงไม่สำคัญ แต่สำคัญที่คุณภาพของการเติบโต และมีความต่อเนื่องมากกว่า อย่างของไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตเพิ่มได้อีก 2% เช่น ถ้าคาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ 2.5-3.5% นั่นหมายความว่าไทยมีโอกาสที่จะเติบโตได้ถึง 4.5-5.5% โดย 2% ที่เพิ่มนั้นจะมาจากประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ที่หลังจากสถานการณ์โควิดมีการปรับตัวได้ดีหรือไม่ ถ้ามีการปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ก็จะเป็นอีกส่วนในการสนับสนุนอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้" นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวอีกว่า หลังจากการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แล้ว เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็วในปี 66-67 ผ่านปัจจัยสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ การลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะด้านคมนาคม ด้านพลังงาน ด้านน้ำ และด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันให้ภาคเอกชนเดินหน้าลงทุน รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย ตลอดจนปัจจัยเรื่องการท่องเที่ยวและบริการ ผ่านมาตรการสำคัญคือการผ่อนคลายและเริ่มเปิดประเทศ เปิดการท่องเที่ยว เริ่มที่ภูเก็ต สมุย พัทยา และเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือน ก.ค. 64 ก่อนที่จะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือน ม.ค. 65 ภายใต้กติกาสากลที่ทั่วโลกกำหนด ที่แม้จะไม่มีการกักตัว แต่จะต้องมีการฉีดวัคซีนและมีเอกสารรับรอง ซึ่งจะเป็นเครื่องการันตีความปลอดภัย เหล่านี้จะเป็นแสงสว่างให้เศรษฐกิจไทยในปี 64-65
รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมออกมาตรการเพื่อดึงสภาพคล่องส่วนเกินในระบบสถาบันการเงินที่มีอยู่สูงถึง 2-2.5 ล้านล้านบาท ออกมาใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจจะเป็นการลงทุนผ่านโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่มีอยู่จำนวนมาก เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องลงทุนหลังจากไทยเสียเวลาไปกว่า 1 ปีจากการระบาดของโควิด-19