(เพิ่มเติม) กพช.เห็นชอบนโยบายกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในระยะ 5 ปี (64-68)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 1, 2021 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในระยะ 5 ปี (64 - 68) และกรอบแนวทางการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปจัดทำรายละเอียดในการกำกับดูแลและกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนในการให้บริการของกิจการไฟฟ้าอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม เพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงบริบทของอุตสาหกรรมไฟฟ้า อันเกิดจากนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทาง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ามีความเกื้อหนุนต่อการรักษาประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศโดยรวม

นายกุลิศ กล่าวว่า การปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้า โดยให้สะท้อนรายได้ที่พึงได้รับ (Allowed revenue) ซึ่งคิดจากต้นทุนและผลตอบแทนที่เหมาะสมของแต่ละประเภทใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าแยกออกจากกัน และคำนึงถึงต้นทุนในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยเทียบเคียงกับหลักการในการให้บริการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า (Ancillary service) เพื่อให้รายรับที่เรียกเก็บจากผู้สร้างความผันผวนต่อระบบไฟฟ้ามีความสมดุลกับค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้า และกระจายภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยไม่ควรเป็นการเพิ่มภาระกับผู้ใช้ไฟฟ้าเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าภายใต้บริบทเดิม และโครงสร้างอัตราขายปลีก ได้กำหนดให้มีการอุดหนุนอัตราค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย โดยเฉพาะบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย โดยให้มีการพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่สมควรได้รับการช่วยเหลือบนพื้นฐานระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) แทนปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว และควรกำหนดให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอื่นๆ ให้ใกล้เคียงกับต้นทุนหน่วยสุดท้าย (Marginal Cost)

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า ในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ประเภทสายส่ง ในอนาคตเมื่อมีการใช้ไฟเหลือสามารถขายคืนเข้าสู่ระบบได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับ หรือ การทำสมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบอัจฉริยะ

ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง จำเป็นต้องบูรณาการให้ชัดเจนว่าในแต่ละพื้นที่ หน่วยงานใดจะเป็นผู้ลงทุน เพื่อจะได้เสนองบลงทุนไม่ซ้ำซ้อน ที่ประชุมจึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดอยู่ภายใต้การกำกับของ กพช. โดยมี รมว.พลังงานเป็นประธาน ขณะที่ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาสภาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้ว่าการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาแผนลงทุนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งจะช่วยให้สามารถใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ