ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะเริ่มทดสอบการใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail CBDC) ในวงจำกัดในช่วงไตรมาส 2/65 หลังจากเริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนทั่วไป รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชน จนถึงวันที่ 15 มิ.ย.64 โดยจะนำความเห็นที่ได้รับมาร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ต่อไป
Retail CBDC เป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งเปรียบได้กับธนบัตรที่ออกโดยธนาคารกลาง โดย Retail CBDC สามารถนำไปใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินได้ทั้งในแบบออนไลน์ (On-line) และออฟไลน์ (Off-line) นอกจากนี้ ยังสะดวกต่อการพกพาเคลื่อนย้าย และสามารถนำไปใช้ต่อยอดกับนวัตกรรมทางการเงินอื่น ๆ ในอนาคตได้
การพัฒนา Retail CBDC มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงสามารถใช้บริการทางการเงินได้สะดวกและปลอดภัยขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนา Retail CBDC ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับบริบทที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในภาคการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบการเงิน รวมถึงช่วยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่จะทำให้เกิดบริการทางการเงินที่หลากหลายในอนาคต
นางสาววชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า แนวทางการพัฒนา Retail CBDC ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ ธปท.ได้ริเริ่มการมาตั้งแต่ปี 61 ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเดียวกับธนาคารกลางในประเทศอื่นทั่วโลกที่ได้พัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเข้ามาทดแทนการใช้ธนบัตร และเป็นสกุลเงินที่มีระบบรักษาความปลอดภัยและมีการรักษาความเป็นส่วนตัวที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับการนำมาต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมทางการเงินที่ทำให้ระบบการเงินของประเทศก้าวหน้ามากขึ้น มีต้นทุนที่ลดลง และสามารถรองรับการทำธุรกรรมต่างๆแบบออฟไลน์ได้
โดยตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.ถึง 15 มิ.ย. 64 ธปท.เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อรวบรวมประเด็นต่างๆนำไปใช้ประกอบในการพัฒนา Retail CBDC และในช่วงช่วงเดือนก.ค. 64 ธปท.จะเริ่มต้นนำร่องการพัฒนา Retail CBDC ก่อนจะทดสอบ CBDC ในวงจำกัดในช่วงไตรมาส 2/65
ทั้งนี้ ธปท.จะมีการประกาศกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้ที่เข้าร่วมทดสอบการไช้ CBDC ในวงจำกัดให้ทราบอีกครั้ง อย่างไรก็ตามระยะเวลาในการนำ Retail CBDC ออกมาใช้ได้จริงในประชาชนวงกว้าง ยังคงต้องรอติดตามผลการทดสอบในวงจำกัดก่อนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่หากเริ่มนำใช้จริงในประชาชนวงกว้างแล้วในช่วงแรกยังคงเป็นการควบคู่กับธนบัตรปกติไปก่อน และธปท.จะติดตามพฤติกรรมการใช้ CBDC ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูว่ามีความต้องการใช้มากหรือน้อยอย่างไรก่อนที่จะค่อย ๆ เพิ่มบทบาทของ CBDC ให้ทดแทนธนบัตรมากขึ้น
"ยอมรับว่าการพัฒนา CBDC มาใช้ในระบบการเงินของไทยไม่ง่าย เพราะเราต้องคิดถึงผลกระทบรอบด้านเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ มีผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินทั้งหมด และกระทบต่อพฤติกรรมการใช้เงินของประชาชน ทำให้แบงก์ชาติเดินไปคนเดียวไม่ได้ ต้องมีทุกภาคส่วนมาช่วยกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เราจึงต้องมีการทำ Hearing จากทุกฝ่าย และนำความคิดเห็นมาพัฒนาทดสอบก่อนใช้จริง อย่างประเทศจีนที่เริ่มทดสอบไปแล้วเขาก็ยังต้องใช้เวลาในการทดสอบในมณฑลเล็กๆก่อน ตอนนี้จีนก็ยังไม่ทีประกาศออกมาใช้ในวงกว้าง"นางสาววชิรา กล่าว
สำหรับ Retail CBDC นั้นจะมีความแตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัลในโครงการอินทนนท์ที่ ธปท.ได้เริ่มไปแล้ว โดยที่สกุลเงินดิจิทัลในโครงการอินทนนท์จะเป็นสกุลเงินที่ให้บริการระหว่างธปท.และสถาบันการเงิน ไม่ได้นำมาใช้กับภาคประชาชน แต่สกุลเงิน Retail CBDC จะนำมาใช้กับประชาชนในวงกว้าง เป็นเหมือนสกุลเงินหนึ่งของไทยในรูปแบบดิจิทัล และความแตกต่างของ CBDC กับ Stable Coin ที่หลายคนรู้จักกันนั้นจะอยู่ที่ผู้ออกสกุลเงินดิจิทัล ซึ่ง CBDC ธนาคารกลางจะเป็นผู้ออกสกุลลเงินดิจิทัล แต่ Stable Coin ผู้ออกสกุลเงินจะเป็นภาคเอกชน ซึ่ง ธปท.มองว่าสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางจะได้รับความน่าเชื่อถือและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากกว่า Stable Coin ที่มีการยอมรับและใช้ในวงจำกัด ส่วนความแตกต่างของ Cryptocurrency กับ CBDC นั้นจะอยู่ที่การคงมูลค่าของสกุลเงินที่มีสินทรัพย์รองรับ และมีความน่าเชื่อถือมากกว่า Cryptocurenncy การนำ CBDC มาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการจะสามารถมีความมั่นใจได้ และมีระบบการชำระเงินที่มาจากหน่วยงานกลางรองรับการรับชำระเงิน ซึ่งทำให้ผู้รับ CBDC มีความมั่นใจว่าเงินยังสามารถคงมูลค่าได้อยู่ และไม่มีความผันผวนมากเหมือนกันกับรับชำระด้วย Cryptocurrency โดยที่สินทรัพย์ที่จะนำมาใช้รองรับ CBDC นั้น ธปท.จะมีการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นไปตามพ.ร.บ.เงินตรา เหมือนกับสินทรัพย์ที่รองรับในการออกสกุลเงินบาทในปัจจุบันที่มีทั้งเงินทุนสำรองและทองคำ เป็นต้น
แม้ว่าในปัจจุบันระบบการชำระเงินของประเทศไทยจะมีประสิทธิภาพและมีความสะดวกในการจ่ายและรับชำระเงินอยู่แล้ว จากการนำระบบพร้อมเพย์ และการบริการออนไลน์ของสถาบันการเงินต่างๆมาใช้ แต่ระบบดังกล่าวยังพึ่งพิงอินเตอร์เน็ตและตัวกลางในการให้บริการ ซึ่งการพัฒนา CBDC จะเข้ามาอำนวยความสะดวกในเรื่องการเก็บและรับชำระเงินในรูปแบบออฟไลน์ได้ทันที และการพัฒนาระบบรับชำระแบบ peer-to-peer แบบไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทำให้เงินสามารถไหลไปตามที่เราต้องการได้ (Programable) เพื่อทำให้การทำธุรกรรมเกิดความรวดเร็วและลดต้นทุนการทำธุรกรรมลง อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังยืนยันว่าจะไม่ตัดตัวกลางในการให้บริการ CBDC ออกไป โดยเฉพาะตัวกลางที่เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการเป็นตัวกลางในการรับชำระเงินและเก็บเงินอยู่ในปัจจุบัน เพราะมองว่าตัวกลางที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีข้อดีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา CBDC ได้ แต่บริบทของตัวกลางหลังจากการมาถึงของ CBDC จะเปลี่ยนไปอีกรูปแบบหนึ่ง และธปท.ยังเปิดกว้างภาคเอกชนรายอื่นๆที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาระบบการให้บริการ CBDC ได้อีกด้วย
นอกจากนี้การใช้ CBDC ยังมีประโยชน์ในแง่ของการเก็บรักษาความเป็นส่วนตัวของการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ เช่นเดียวกับการใช้เงินสดในการชำระสินค้าและบริการ เนื่องจากไม่มีใครสามารถเข้าข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ถือ CBDC รายนั้นๆได้ เหมือนกับการใช้เงินสดซื้อสินค้าและบริการที่มีแค่เรากับผู้ขายเท่านั้นที่ทราบถึงการทำธุรกรรม แตกต่างจากการโอนเงินผ่านระบบของธนาคารที่ธนาคารทราบข้อมูลของธุรกรรมที่ลูกค้าทำได้ แต่ลูกค้าก็จะได้รับความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมที่ธนาคารบริหารจัดการให้ ซึ่งแต่ละระบบมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับประชาชนว่าการยอมรับการบริการทางเงินจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร