นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สำหรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งความต้องการใช้ธนบัตรของประชาชนอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปกติ นั้น ธปท. ได้พิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจ สถานการณ์โควิด-19 รวมถึงมาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยประมาณการว่า ธนาคารพาณิชย์จะมีการเบิกจ่ายธนบัตรจาก ธปท. ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนเทศกาลสงกรานต์เพิ่มขึ้นจากการเบิกจ่ายปกติ เป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 16,000 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นจากปี 2563 ที่มีการเลื่อนวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และใกล้เคียงกับปี 2562 โดยสะท้อนมาตรการภาครัฐเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ในขณะที่แนวโน้มการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ธปท. ได้เตรียมสำรองธนบัตรชนิดราคาต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการไว้อย่างเพียงพอ
รายงานข่าวจากธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่สาขาหลักธนาคารปิดให้บริการระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน พ.ศ.2564 นั้น ทางธนาคารได้ดำเนินการสำรองเงินสดไว้ให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มเติมจากภาวะปกติโดยรวมทั้งสิ้นประมาณ 30,000 ล้านบาท ผ่านช่องทางบริการเอทีเอ็มที่มีเกือบ 10,000 จุดทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารที่พร้อมอำนวยความสะดวกและให้สามารถทำรายการธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น เครื่องบัวหลวงเอทีเอ็ม (ATM) เครื่องบัวหลวงรับฝากเงินสดอัตโนมัติ (CDM) บริการบัวหลวงไอแบงก์กิ้ง (Bualuang iBanking) และบริการโมบายแบงก์กิ้ง
ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เตรียมสำรองเงินสดสำหรับให้บริการในสาขาและเครื่องเอทีเอ็ม เพื่อรองรับการใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ 12-16 เมษายน 2564 รวมทั้งสิ้น 29,340 ล้านบาท ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นการสำรองเงินสดผ่านช่องทางสาขา จำนวน 9,100 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 4,330 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาคจำนวน 4,770 ล้านบาท ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมี 862 สาขา ทั่วประเทศ
ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) สำรองเงินสดจำนวน 8,316 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากยอดเงินสดที่ลูกค้าใช้จริงในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนราว 6% เพื่อรองรับการเบิกถอนเงินของลูกค้าและประชาชนทั่วไปผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม และสาขาของธนาคารทั่วประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แบ่งเป็นเงินสดสำรองสำหรับบริการผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 5,718 ล้านบาท และช่องทางสาขาของธนาคารจำนวน 2,598 ล้านบาท โดยปัจจุบันธนาคารมีสาขาจำนวน 624 สาขา และเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 5,743 เครื่องทั่วประเทศ (ข้อมูลจำนวนเครื่อง/สาขา ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564)