น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 64 ไว้ที่เติบโต 3-4% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1. สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มากขึ้น ส่งผลบวกต่อทิศทางทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชนสหรัฐ และความต้องการสิจค้าจากทั่วโลกรวมถึงไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโควิด และ work from home
3. ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 4.เงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าในรอบ 4 เดือน จากอานิสงค์การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยิลด์) ซึ่งมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 64 คือ 1. ปัญหา International Logistics โดยจากกรณีล่าสุดเรือ Ever Given บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์กว่า 20,000 TEUs ประสบอุบัติเหตุในคลองสุเอซ ประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งจากเอเซียไปยุโรป ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเรือบรรทุกสินค้า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หลายร้อยลำไม่สามารถผ่านเส้นทางนี้ได้ และส่งผลทำให้การส่งมอบสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด ขณะที่ยังมีปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และอัตราค่าระวางที่ทรงตัวในระดับสูง
2. การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อคดาวน์ในบางพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจกลับมาชะลอได้อีกครั้ง
3. ปัญหาชิปขาดแคลน ก่อนหน้านี้หลายโรงงานผลิตชิปต้องปิดตัวหรือลดกำลังการผลิตลงชั่วคราว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 63 ที่ผ่านมา ประกอบกับโรงงานผลิตชิปที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกสัญชาติญี่ปุ่นเกิดเหตุเพลิงไหม้เครื่องสำหรับผลิตชิป ทำให้กำลังการผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดโลกหายไปพอสมควร
4. การขาดแคลนแรงงานกลุ่ม Unskilled labor เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าออกของแรงงาน ทั้งนี้ ปัญหาอาจมีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องด้วยกิจกรรมการผลิตและการส่งออกเริ่มฟื้นตัวจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า
น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า สรท.ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1. เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกที่ชัดเจนเนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งที่สูงมากขึ้น
2. เร่งรัดการแก้ไขปัญหาความแออัดและการจราจรติดขัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากทำให้ผู้ประกอบการส่งออกมีต้นทุน และระยะเวลาในการปฏิบัติงานขนส่งเพิ่มขึ้น และทำให้การนำเข้าวัตถุดิบสู่กระบวนการผลิตมีความล่าช้า
3. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้มาตรการหรือเครื่องมือทางการเงินเพื่อกำหนดทิศทาง รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไว้ที่ 32 บาท/เหรียญสหรัฐฯ
4. เร่งดำเนินการความตกลงเขตการค้าเสรีที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคือสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
5. เนื่องจากแรงงานในระดับ Unskilled labor ขาดแคลนอยางหนัก โดยเฉพาะในภาคการผลิต ขอรัฐบาลพิจารณาแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมโดยเร็ว แต่อาจต้องมีมาตรการรับมือการแพร่ระบาดโควิดที่เข้มงวด