น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2564 ใหม่ในช่วงปลายเดือนเม.ย.นี้ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ชะลอตัวไปจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.8% และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไว้ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 3%
เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค. โดยมีแรงส่งจากการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์ใหม่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่การระบาดขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ดังนั้นจะขอดูผลกระทบจากการแพร่ระบาดของคลัสเตอร์ใหม่นี้อีกระยะหนึ่ง
"เดิมคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวดีขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ โดยจะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่เพิ่มขึ้น แต่จากการระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์ใหม่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่พบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการประกาศพื้นที่สีแดง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะหยุดชะงัก ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลกระทบทำให้การปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ มีความเป็นไปได้ 2 ทาง คือ คงการขยายตัวไว้ที่ 2.8% เหมือนเดิม หรือปรับเพิ่มขึ้น โดยที่ยังไม่รวมปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของคลัสเตอร์ใหม่ แต่เบื้องต้น สศค. ยังไม่ได้มองว่าสถานการณ์ระบาดดังกล่าวจะส่งผลกระทบรุนแรงจนถึงขึ้นปรับลดจีดีพีให้ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้" โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว
พร้อมระบุว่า หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 2.8% จะเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น รวมถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประเมินไว้ 5 ล้านคน แต่หลังจากการเริ่มฉีดวัคซีนทั้งในประเทศไทยและในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ก็ต้องดูว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลบวกต่อแนวโน้มการท่องเที่ยวของไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่ในช่วงครึ่งปีหลัง
"การระบาดของโควิด-19 จากคลัสเตอร์ใหม่ในขณะนี้ ยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงสงกรานต์ ทำให้จากเดิมที่ สศค. คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะขยายตัวได้ดี ก็อาจต้องขอประเมินก่อนว่าจะกระทบมากน้อยแค่ไหน" น.ส.กุลยา กล่าว
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังยืนยันว่าจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์ใหม่กระทบกับปากท้องของประชาชน ก็จะเร่งนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยในส่วนของมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 นั้น ยืนยันว่าขณะนี้มีความพร้อม แต่ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล หากเห็นว่าการบริโภคในประเทศเริ่มชะลอตัว ก็สามารถปรับแผนมานำมาตรการดังกล่าวมาใช้ได้เร็วขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะใช้ในเดือน มิ.ย.64
โฆษกกระทรวงการคลัง ยืนยันว่ายังไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องกู้เงินเพิ่มเติม เนื่องจากการกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ยังเพียงพอที่จะดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ โดยปัจจุบันยังมีวงเงินตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวเหลืออีก 2.4 แสนล้านบาท รวมทั้งยังมีงบประมาณรายจ่าย ปี 2564 อีก 3.285 ล้านล้านบาท