บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)วันที่ 18 ก.ย.มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลง 0.25% เป็นอย่างน้อย ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวปรับลดลงเหลือ 5% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 5.25%
สาเหตุที่ประเมินว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจเริ่มมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่มีน้ำหนักลดน้อยลง ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการประคับประคองฐานะทางการเงินของผู้บริโภคและจำกัดผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อซับไพร์มที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาพรวม
ขณะเดียวกัน แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าก็น่าจะช่วยเอื้อให้เฟดสามารถดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงได้โดยไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมากเท่าในอดีต
อย่างไรก็ตาม หากเฟดประเมินว่าความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีมากขึ้นในระยะถัดไปจากผลกระทบของปัญหาสินเชื่อซับไพร์มต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงที่จะทยอยปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นในอนาคต ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงมากกว่า 0.25% แต่ทางเลือกนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย เพราะเฟดอาจจะไม่ต้องการให้เกิดภาวะฟองสบู่รอบใหม่ขึ้นอีกกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ
แต่ทั้งนี้ในขณะเดียวกัน ยังโอกาสที่เฟดจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะถ้าเฟดเชื่อมั่นว่าปัญหาสินเชื่อซับไพร์มจะส่งผลกระทบจำกัดแค่ภาคธุรกิจการเงินและอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งหากเฟดไม่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือนักลงทุนเฉพาะกลุ่มที่ชอบความเสี่ยง ซึ่งจะกลายเป็นการสนับสนุนพฤติกรรม moral hazard
นอกเหนือจากการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ย Fed Funds แล้ว เฟดอาจยังมีแนวโน้มจะดำเนินการผ่านช่องทางอื่นควบคู่กันไปเพื่อแก้ปัญหาสินเชื่อซับไพร์ม ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องในระบบการเงิน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Discount rate) และการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาเพราะจะมีอิทธิพลต่อการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ตลอดจนความเคลื่อนไหวของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกด้วย
สำหรับผลกระทบต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย(กนง.)น่าจะเทน้ำหนักไปที่ปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลักมากกว่า เพราะผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อซับไพร์มที่คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง อาจจะไปปรากฏชัดเจนในปี 51 มากกว่าปีนี้
ดังนั้น หากการใช้จ่ายในประเทศสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปีตามที่คาดหวังไว้ ทดแทนกับแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ก็อาจมีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับตัวลดลงได้อีกเล็กน้อยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--