ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.อยู่ที่ 48.5 ลดลงจากเดือนก.พ.64 ซึ่งอยู่ที่ 49.4
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 42.5 จาก 43.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 45.3 จาก 46.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 57.7 จาก 58.7
"สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมี.ค.ลดลง เป็นผลจากความกังวลต่อสถานการณ์โควิดรอบใหม่ รวมทั้งปัญหาการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ทั้งในสภา และนอกสภา" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์ฯ ระบุ
โดยปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศให้งดกิจกรรมสาดน้า ประแป้ง และปาร์ตี้โฟมทุกพื้นที่ในช่วงสงกรานต์ ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทาธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และบริการต่างๆ, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ปี 2564 สู่ระดับ 3.0 % จากที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% และความกังวลเกี่ยวจากเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง ที่อาจส่งผลประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา
ปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วยโครงการเราชนะ โครงการรารักกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ต่อปี และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าวยางพารา และมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เป็นผลสำรวจก่อนที่จะทราบถึงสถานการณ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในกลุ่มก้อนสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ ซึ่งประเมินว่าการสำรวจดัชนีฯ ในเดือนเม.ย.น่าจะเห็นผลกระทบจากกรณีนี้ และอาจทำให้ดัชนีปรับลดลงได้อย่างน้อย 2 จุด จากผลที่ประชาชนมีความกังวลมากขึ้นต่อการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
โดยมองว่าความกังวลต่อการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในคลัสเตอร์ของสถานบันเทิงนี้ จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลงไปราว 5-10% จากระดับปกติ หรือคิดเป็น 1-2 พันล้านบาท/วัน ซึ่งหากความกังวลยังอยู่ในระดับนี้อีกอย่างน้อย 1 เดือน จะส่งผลให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจราว 3-5 หมื่นล้านบาท/เดือน
อย่างไรก็ดี หากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยกการ์ดสูง งดกิจกรรมต่างๆ ที่จะสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ซึ่งจะช่วยให้การระบาดของไวรัสโควิดไม่บานปลายในวงกว้าง ก็คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้ไม่เกิน 1-2 เดือน และภาพรวมทั้งประเทศอาจจะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจราว 60,000-100,000 ล้านบาท ขณะที่เชื่อว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ราวเดือนมิ.ย.นี้
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ม.หอการค้าไทย จะยังไม่ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ โดยยังคงไว้ที่อัตราการขยายตัว 2.8% หรือในกรอบ 2.5-3.0% ไว้ตามเดิมก่อน แต่ก็มองว่ามีโอกาสที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะลดลงมาเหลือ 2-2.5% ได้ หากไม่สามารถควบคุมการระบาดของคลัสเตอร์ใหม่ได้ภายใน 2 เดือน และหากสถานการณ์ยังลุกลามกินเวลานาน 3-4 เดือน อาจจะทำให้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 2% เท่านั้น
"เรายังคงกรอบเดิมไว้ที่ 2.5-3.0% หรือเฉลี่ยที่ 2.8% ภายใต้สมมติฐานที่ว่าสถานการณ์โควิดไม่รุนแรงมาก ผู้ติดเชื้อใหม่ไม่เกินวันละ 500 คน และไม่มีล็อกดาวน์...แต่ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะโตเหลือ 2% บวก/ลบได้ หากสถานการณ์ลุกลามไป 3-4 เดือน" นายธนวรรธน์ระบุ
ทั้งนี้ คาดหวังว่ารัฐบาลจะยังดำเนินมาตรการในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจะมีความจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินราว 3-5 หมื่นล้านบาท เพื่อออกมาช่วยกระตุ้นเรื่องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในระยะนี้ โดยเฉพาะมาตรการคนละครึ่ง เฟส 3 ที่หากออกมาในเดือนนี้ก็จะเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ได้ในระดับหนึ่ง พร้อมกับเชื่อว่ารัฐบาลจะเลือกขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจสามารถเดินไปข้างหน้าได้ควบคู่กับการดูแลระบบสาธารณสุขในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ