เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งสภาคองเกรสสหรัฐว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดสินเชื่อทำให้ตลาดได้รับแรงกดดันอย่างมีนัยสำคัญ แต่เบอร์นันเก้ให้คำมั่นสัญญาว่า เฟดจะใช้มาตรการควบคุมไม่ให้สถานการณ์ร้ายแรงไปมากกว่านี้
"ภาวะผันผวนในตลาดเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาในตลาดปล่อยกู้จำนองให้กับลูกค้าที่ขาดความน่าเชื่อถือ (ซับไพรม์) และความเสียหายที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินทั่วโลกก็มีมากกว่าที่หลายฝ่ายประเมินกันไว้ นอกจากนี้ ภาวะขาดทุนในตลาดซับไพรม์ยังส่งผลให้ตลาดการเงินตกอยู่ในภาวะไร้ทิศทาง และจุดปะทุให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ" เบอร์นันเก้กล่าว
"ความเสียหายที่เกิดขึ้นในวงกว้างเช่นนี้ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจและยากที่จะประเมินความเสี่ยงของหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเสี่ยงลงทุน" เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้กล่าวกับสภาคองเกรสว่า "เฟดจะใช้มาตรการรับมือกับวิกฤตการณ์เหล่านี้ อีกทั้งจะปกป้องผู้บริโภคและบริษัทปล่อยกู้จำนองไม่ให้ได้รับความเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ เฟดจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลกลางและหน่วยงานของแต่ละรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาในตลาดซับไพรม์"
"เฟดมีความตั้งใจที่จะควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบในวงกว้างและจะพยุงเศรษฐกิจให้ขยายตัวในระดับปานกลาง โดยเฟดได้พิสูจน์เรื่องนี้ได้จากการตัดสินใจอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินเมื่อไม่นานมานี้" เบอร์นันเก้กล่าว
"สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐไร้ทิศทาง ดังนั้นเฟดจะประเมินผลกระทบเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาและผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวแบบยั่งยืน" เขากล่าว
เมื่อสภาคองเกรสได้สอบถามถึงเหตุผลที่เฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นลงมากถึง 0.50% นั้น เบอร์นันเก้กล่าวว่าการที่เฟดตัดสินใจเช่นนั้นก็เพื่อควบคุมภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อไม่ให้บานปลายไปจนสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ครั้งนี้ เบอร์นันเก้ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก แต่กล่าวเพียงว่า เฟดจะติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในสหรัฐอย่างใกล้ชิดและอาจจะมีการปรับนโยบายหากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--