"โฆสิต" ระบุรัฐบาลเน้นวางรากฐานศก.มากกว่ามุ่งการเติบโตประเทศในระยะสั้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 21, 2007 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้คือการวางรากฐานทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง เพื่อที่จะรองรับต่อสถานการณ์ที่สำคัญของโลกมากกว่าการมุ่งเน้นตัวเลขการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น 
โดยสถานการณ์สำคัญของโลกในขณะนี้มี 3 เรื่องหลัก คือ ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก, การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการแข่งขันด้านราคาสินค้ากับประเทศจีน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับตัว
อย่างไรก็ดี การทำงานของรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง เพียงแต่กำลังดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งทุกอย่างจะค่อยๆ เห็นผล และในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้รัฐบาลจะเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเข้าสู่ชุมชนภายใต้ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะดูแลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในปีนี้เติบโตในระดับพอสมควร โดยคาดไว้ที่ระดับ 4-4.5%
นายโฆสิต ยังกล่าวในตอนหนึ่งของการปาฐกถาพิเศษเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในสถานการณ์ปัจจุบันและการปรับตัวของภาคเอกชนว่า รัฐบาลได้เน้นให้เอกชนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ตลอดจนพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อรองรับกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น เพราะการส่งออกยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น
ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานว่า เดือนส.ค.50 การนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นถึง 7% ซึ่งจะทำให้การลงทุนในไทยเริ่มกล้บมาฟื้นตัวขึ้นได้ อีกทั้งในช่วง 8 เดือนการลงทุนจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น, สหรัฐฯ และยุโรป ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คิดเป็นการลงทุนรวม 3 แสนล้านบาท และทั้งปีคาดว่าจะมีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การลาออกของ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนและประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล เนื่องจากกระทรวงไอซีทีไม่ใช่กระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม หากมีรัฐมนตรีอื่นในกระทรวงสำคัญทยอยลาออกตาม ก็อาจจะส่งผลกระทบได้ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกระทบมากเพราะเป็นช่วงปลายรัฐบาลแล้ว
ส่วนการส่งออกในเดือน ส.ค.50 ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.9% ถือว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งการส่งออกในเดือน ก.ค.ที่อัตราการขยายตัวต่ำเพียง 5.9% นั้นเป็นเพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้นจาก 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เหลือประมาณ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ภาคเอกชนกำลังจับตาปัญหาซับไพร์มและเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชะลอตัวลงว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยมากน้อยเพียงใด แต่ทั้งนี้ยังเชื่อว่าการส่งออกในปีนี้จะเป็นไปได้ตามเป้าหมาย 12.5% ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ และคาดว่าช่วงสิ้นปีเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 32-33 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการแข็งค่าขึ้นอีกเนื่องจากผลของปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ ที่ทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามายังประเทศไทย และรัฐบาลจำเป็นต้องจับตาสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ