นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองอาจทรุดหนักถึงขั้นติดลบได้เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกจากการแพร่ระบาดระลอกสาม และทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีไม่น่าจะถึง 2% ต้องดำเนินมาตรการไม่ให้เกิดการตื่นกลัวเกินกว่าเหตุจนเกิดความชะงักงันทางเศรษฐกิจรุนแรง การกระจายอำนาจตัดสินใจไปยังจังหวัดเป็นเรื่องที่เหมาะสม การเปิดเสรีนำเข้าวัคซีนและให้เอกชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการวัคซีนจะทำให้สถานการณ์การเข้าถึงวัคซีนดีขึ้น รวดเร็วขึ้น แนวโน้มเงินบาทอ่อนตัวต่อเนื่องจากเงินทุนระยะสั้นทยอยไหลออก ขณะที่เงินไหลเข้าจากรายได้ท่องเที่ยวจากต่างชาติและการส่งออกอาจไม่เป็นไปตามคาดการณ์ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวไตรมาสสามอาจไม่เกิดขึ้นหากการแพร่ระบาดระลอกสามไม่สามารถควบคุมได้ภายในเดือนพฤษภาคม
กระแสเงินทุนจะไหลไปยังประเทศที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนและเป็นประเทศที่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากกว่า 70% และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ อย่างสหรัฐอเมริกาสามารถระดมฉีดวัคซีนได้ 3,033,045 โดสต่อวัน ทำให้ใช้เวลาสามเดือนจากนี้จะสามารถทำให้ประชาชนประมาณ 75% ได้รับภูมิคุ้มกัน ทำให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปรกติและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปรกติ อย่างไรก็ตาม การหยุดการแพร่ระบาดของ Covid-19 นั้นเป็นการร่วมมือในการฉีดวัคซีนกันทั่วโลกในลักษณะ Global Vaccination Campaign แต่มีความเหลื่อมล้ำอย่างมากของประเทศต่างๆในการเข้าถึงวัคซีน
ขณะนี้มีวัคซีนที่พร้อมฉีดให้ประชาชนทั่วโลกในประเทศต่าง ๆ 748 ล้านโดสใน 154 ประเทศซึ่งครอบคลุมเพียงแค่ 5% ของประชากรโลก ข้อมูลจากการวิเคราะห์ของ Bloomberg ยังพบว่า กลุ่มประเทศร่ำรวย 27 ประเทศ ครอบครองวัคซีนกว่า 39.3% แต่มีประชากร 11.1% การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทั่วโลกจึงเกิดขึ้นได้ยากและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยภายในระยะเวลาสองสามปีข้างหน้านี้ นอกจากนี้มีปริมาณวัคซีนที่จำกัดไม่เพียงพอสำหรับประชากรโลกแล้ว การบริหารการจัดส่งไปตามพื้นที่ต่างๆทั่วโลกเพื่อรักษาคุณภาพวัคซีนก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เป็น Greatest Logistical Challenges เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยซึ่งต้องนำเข้าวัคซีนและวัคซีนที่สั่งจองไว้ก็ยังครอบคลุมเพียงแค่ 45% ของประชากร จะประสบภาวะความยากลำบากในการเผชิญการแพร่ระบาดในอนาคตและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การบริหารจัดการเรื่องการฉีดวัคซีนของไทยค่อนข้างล่าช้าและขณะนี้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนในประเทศไทยก็ยังไม่ถึง 2% วิธีที่ดีที่สุด คือ ทุกคนต้องมีวินัยในทำ Social Distancing ใส่หน้ากากอนามัย ป้องกันตัวเองด้วยการล้างมือ ฉะนั้น การบริหารความสมดุลระหว่างนโยบายสาธารณสุขและนโยบายเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก หากเกิดระลอกสามแล้วยืดเยื้อยาวนาน เศรษฐกิจของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ธุรกิจขนาดย่อม เอสเอ็มอีหรือ คนที่ว่างงานมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้วจะไม่สามารถทนทานต่อความเดือดร้อนและยากลำบากทางเศรษฐกิจได้ นำสู่วิกฤติทางสังคมได้ ปัญหาทางการเมืองอันซับซ้อนได้
นายอนุสรณ์ เสนอว่า ในสถานการณ์ที่ปัญหารุมเร้าเช่นนี้และประชาชนจำนวนมากประสบปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจอย่างมาก จึงขอเสนอให้มีการใช้ยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ ชดเชยรายได้ ชะลอการปิดกิจการรักษาการจ้างงาน ด้วยมาตรการผ่อนคลายทางการคลังและการเงินมากเป็นพิเศษควบคู่กัน โดยดำเนินการทุกๆด้านทุกๆมิติพร้อมๆกัน พร้อมทั้งรักษาธุรกิจต่างๆให้ดำเนินต่อไปได้โดยไม่ขาดสภาพคล่องหรือเกิดภาวะล้มละลายเลิกกิจการด้วยมาตรการการเงินพักชำระหนี้ สามารถรักษาระดับการจ้างงานต่อไปได้ โดยมาตรการประกอบไปด้วย ข้อเสนอแรก ลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือ 6% ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงอีก 1-2%
ข้อเสนอที่สอง เก็บภาษีทรัพย์สินชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ข้อเสนอที่สาม ชดเชยรายได้ให้กับกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาทและได้รับผลกระทบไม่สามารถทำงานได้จากคำสั่งของรัฐเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ข้อเสนอที่สี่ ออกพันธบัตรระยะยาว 20-30 ปีกู้เงินเพื่อลงทุนทางด้านการศึกษา การวิจัย การสร้างนวัตกรรม ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่และผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรม New S Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจีสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สร้างฐานอุตสาหกรรมที่ไทยพอมีศักยภาพขึ้นมาใหม่เพื่อชดเชยการจ้างงานที่หดตัวลงจากวิกฤติสุขภาพ covid และผลกระทบจาก Disruptive Technology
ข้อเสนอที่ห้า ต้องยกระดับภาคเกษตรกรรมให้ผลิตสินค้ามูลค่าสูง แปรรูปเพิ่มมูลค่า ลงทุนระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ข้อเสนอที่หก เร่งรัดในการออกกฎหมายเพื่อให้มีการพักการชำระหนี้สำหรับภาคท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง รวมทั้งธุรกิจที่เป็นหนี้เสียไม่สามารถชำระหนี้ได้จากผลกระทบของมาตรการของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาด
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ค่อนข้างชัดเจนว่า การระบาดระลอกสามและการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดสะท้อนปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในไทยและความเหลื่อมล้ำในเกือบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส สิทธิและเพศสภาพ ความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมายและการเข้าถึงความยุติธรรมรวมทั้งสะท้อนถึงโครงสร้างสังคมไทยที่มีปัญหาต้องเยียวยาโดยด่วน ปัญหาการติดเชื้อและเกิดการแพร่กระจายเป็นกลุ่มก้อน ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นระลอกแรก ระลอกสอง ระลอกสาม ล้วนสะท้อนปัญหาในเชิงโครงสร้างของการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยอีกด้วย ทุกๆครั้งจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทาผิดกฎหมาย ไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย และ มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่มักจะก่อปัญหา และ ทำให้คนทั้งสังคมและเศรษฐกิจทั้งหมดเดือดร้อน การกระทำเหล่านี้เป็นการแสดงถึงความไม่รับผิดชอบต่อสังคม สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ