ไทยจะหยิบยกประเด็นความร่วมมือผู้นำเข้า-ส่งออกน้ำมันหารือในกลุ่มอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 17, 2007 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ไทยจะใช้เวทีการสัมมนาเรื่องการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงหารือกับทบวงพลังงานโลก(IEA)และประเทศในอาเซียน เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศผู้นำเข้าและส่งออกน้ำมันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันในอนาคต
งานสัมมนาดังกล่าวกระทรวงพลังงานร่วมกับ IEA จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ก.ย.เพื่อสร้างความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศในภูมิภาคอาเซียในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน IEA ให้ความสำคัญกับประเทศในอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้น้ำมันขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศที่ยังคงอุดหนุนราคาน้ำมัน เช่น มาเลเซีย อินโดนิเซีย จีน และอินเดีย
ขณะที่ประเทศในภูมิภาคนี้มีระดับการสำรองน้ำมันที่แตกต่างกัน ดังนั้น IEA จึงต้องการสร้างความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมันไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับประเทศไทยนับได้ว่ามีมาตรการบริหารจัดการน้ำมันในระดับหนึ่ง โดยกำหนดให้มีระดับการสำรองน้ำมันตามกฎหมาย 47 วัน เพิ่มขึ้นจากปี 33 ที่อยู่ในระดับ 18 วัน ทำให้ไม่ประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำมัน ต่างจากประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากการใช้กลไกราคาที่สะท้อนความเป็นจริงช่วยให้อัตราการขยายตัวของการใช้น้ำมันลดลง รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
"เราคงไม่ต้องปรับปรุงมาตรการสำรองน้ำมัน เพราะถือว่าระดับการสำรองที่ 47 วันน่าจะเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานะของประเทศแล้ว เนื่องจากเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา หากสำรองมากเกินไปจะเป็นภาระ" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ด้านนายวิลเลี่ยม แลมเซ่ รองประธาน IEA กล่าวว่า ความต้องการการใช้น้ำมันยังคงขยายตัว แม้ราคาจะอยู่ในระดับสูงก็ตาม
โดยเฉพาะจีนและอินเดียที่คาดว่าจะมีการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 6-7 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ เป็น 18-19 ล้านบาร์เรล/วันในอีก 23 ปีข้างหน้า
ความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้น โดยในอีก 23 ปีข้างหน้าคาดว่าทั่วโลกจะต้องลงทุนรวม 20 ล้านล้านดอลลาร์ โดยแหล่งผลิตพลังงานยังคงมาจากประเทศในตะวันออกกลางเป็นหลัก
"ปัจจุบันการขยายตัวของการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนามากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในเอเชียที่ความต้องการขยายตัวมากกว่าประเทศในแถบยุโรปถึง 2 เท่าตัว ซึ่งในปีหน้าคาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 7 แสนบาร์เรล" นายวิลเลี่ยม กล่าว
สำหรับกิจกรรมที่เข้ามารองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นมีผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหากทุกประเทศช่วยกันปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ