นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า การออกภาษีใหม่ๆ ในช่วงนี้ ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เนื่องจากขณะนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงการคลังและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการภาษีในการเอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า
"ยืนยันว่าจะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีใหม่ ๆ ในช่วงนี้ เนื่องจากไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม...ภาษีใหม่ ๆ ที่มีการเสนอ เช่น ภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า และภาษีจากความเค็ม ทีมกำลังทำการบ้านอยู่ มีความคืบหน้า ข้อมูลทั้งหมดมีอยู่แล้ว แต่อยากขอเวลาทำงานให้รอบคอบมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่ายังมีเวลา เพราะช่วงโควิดและช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวแบบนี้ คงไม่เหมาะหากจะออกภาษีใหม่ ๆ มาใช้ ทุกอย่างยังมีเวลา อยากศึกษาให้ดีและรอบคอบก่อน" นายลวรณ กล่าว
นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตเตรียมพิจารณาขยายเวลาเลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานตามขั้นบันไดไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่วนจะขยับไปนานเท่าไรนั้น ขึ้นกับฝ่ายนโยบายจะพิจารณาอีกครั้ง
ส่วนของการพิจารณาโครงสร้างภาษีกัญชานั้น นายลวรณ กล่าวว่า ยังมีเวลาในการศึกษาแนวทางดำเนินการให้รอบคอบ และต้องรอความชัดเจนจากฝ่ายนโยบายด้วยว่าจะกำหนดให้กัญชาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ในระดับใด โดยปัจจุบันยังเป็นเพียงการนำมาใช้ในการทำอาหารปรุงสด หรือการเป็นเครื่องดื่ม ซึ่งไม่เสียภาษีสรรพสามิต แต่การที่กรมฯ จะเข้าไปจัดเก็บภาษีได้นั้น ก็ต่อเมื่อมีการนำกัญชามาบรรจุลงขวดหรือกระป๋อง ดังนั้นจึงยังมีเวลาในการพิจารณาเรื่องนี้อยู่พอสมควร
สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในช่วง 6 เดือนของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63-มี.ค.64) ถือว่าทำได้ในระดับที่น่าพอใจ จากอานิสงส์ของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์และภาษีเบียร์ที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่าภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในปีงบประมาณ 2564 จะทำได้สูงกว่าเป้าหมายของกระทรวงการคลัง และสูงกว่าการจัดเก็บในปีงบประมาณก่อนหน้าแน่นอน
"ต้องติดตามภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบ 64 ด้วย หากโควิด-19 คลี่คลาย ก็จะส่งผลให้มีการเดินทาง การบริโภค และใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับรายได้จากภาษีน้ำมันที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ดีมาก ๆ และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2564 ซึ่งการจัดเก็บรายได้จากภาษีน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3 แสนบาทต่อปี" อธิบดีกรมสรรพสามิตระบุ
สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ที่กระทรวงการคลังได้รับนโยบายจากรัฐบาลมานั้น ในแต่ละกรมจัดเก็บรายได้ คือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยในส่วนของกรมสรรพสามิตได้ศึกษาแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ไม่ใช่แค่การจัดเก็บรายได้เท่านั้น แต่พิจารณาในทุกเรื่อง ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีออกมาให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และตอบโจทย์ภารกิจของกรมสรรพสามิต