ผลการศึกษาฉบับใหม่ของออสเตรเลียซึ่งเผยแพร่โดยนายจอห์น โฮวาร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ในงานแถลงข่าว ซึ่งตรงกับสัปดาห์การประชุมสุดยอดของประเทศสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในประเทศแถบแปซิฟิกที่ขยายตัวขึ้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปล่อยก๊าซภาวะเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อนเพิ่มขึ้นอีก 130% ภายในปี 2593
ทั้งนี้ ผลการศึกษายังระบุอีกว่า เศรษฐกิจของเอเปกจะเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยที่ระดับ 3.0% ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 140%
เชื้อเพลิงจากน้ำมัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซภาวะเรือนกระจกนั้น เป็นกลุ่มพลังงานที่สำคัญของเอเปก และคาดว่าจะมีการใช้งานในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2593
"หากนโยบายการใช้พลังงานในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ เราคาดว่าอุปทานด้านพลังงานในกลุ่มประเทศเอเปกในปี 2593 จะมาจากแหล่งถ่านหิน 29% น้ำมัน 31% ก๊าซ 25% นิวเคลียร์ 9% พลังน้ำ 2% และเชื้อเพลิงชีวมวลและพลังงานทดแทนอื่นๆอีก 4%"
"อัตราการใช้พลังงานขั้นปฐมภูมิภายใต้การพัฒนาเทคโนโลยีและโครงการในเศรษฐกิจของเอเปกภายในปี 2593 คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 32% แต่การใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซภาวะเรือนกระจกของกลุ่มประเทศเอเปกได้ 49% ภายในปี 2593"
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้นำเอเปกจะหยิบยกปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมาหารือกันในที่ประชุมสุดยอดที่จะมีขึ้นในวันที่ 8-9 กันยายนนี้ แต่นายโฮวาร์ดกล่าวว่า พวกเขาจะไม่กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซภาวะเรือนกระจกแต่อย่างใด ธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย วณิชชกร ควรพินิจ/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--