นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นโลกให้ผลตอบแทนดีมากในช่วงไตรมาส 1/64 นำโดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งตลาดปรับตัวขึ้นราว 9-10% ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทิสโก้มองว่าตลาดหุ้นโลกในไตรมาส 2 ยังน่าจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวแข็งแกร่ง ท่ามกลางการทยอยการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในหลายประเทศ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการเงินและการคลัง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) จะกลับมาให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้วในช่วงไตรมาส 2 จาก 3 ปัจจัยหนุน คือ 1.เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวแข็งแกร่งและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงอย่างรวดเร็วจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ EM 2.ราคาหุ้น (Valuation) ยังถูกกว่าตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว โดยดัชนี MSCI Emerging Market ในปัจจุบันเทรดที่อัตราราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ประมาณ 15 เท่า ซึ่งต่ำกว่า MSCI Developed Market ที่เทรดในระดับ P/E ประมาณ 20 เท่า หรือคิดเป็นส่วนลด (P/E Discount) ประมาณ 25% และ 3) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่กลับมาอ่อนค่าลงในเดือนเมษายนจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น EM
ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้แนะนำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น EM โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน เพราะราคาหุ้นยังปรับตัวขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคในปีนี้ ทำให้มีโอกาสการปรับขึ้น (Upside) สูงกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องโดยได้แรงหนุน จากอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศที่ฟื้นตัว และนับเป็นประเทศหลักเพียงประเทศเดียวที่เศรษฐกิจกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้แล้ว
โดยตลาด (Bloomberg Consensus) คาดว่าเศรษฐกิจจีน ปี 64 จะขยายตัว 8.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งในไตรมาส 1/64 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนได้เติบโตสูงถึง 18.3% นับเป็นตัวเลขการเติบโตสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ท่ามกลางเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโรคระบาดที่เกิดขึ้น
อย่างไรตาม ตลาดหุ้นโลกอาจเผชิญความผันผวนอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 จากการลดการอัดฉีดสภาพคล่องของ Fed ซึ่ง TISCO ESU คาดว่า Fed จะเริ่มหารือถึงแผนการลดการซื้อสินทรัพย์ (QE Taper) ในช่วงกลางปีนี้ เพื่อให้ตลาดรับรู้ก่อนจะเริ่มดำเนินการจริงในช่วงต้นปีหน้า