นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ในระยะสั้นประเทศไทยคงต้องเผชิญกับทางเลือกเชิงนโยบายระหว่างประโยชน์จากการเปิดเสรี และเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน เนื่องจากความเชื่อมโยงของตลาดเงินโลกที่มีมากขึ้นทำให้การจัดการเรื่องความผันผวนและความเสี่ยงทำได้ยากมากขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างชัดเจนล่าสุด คือ กรณีของ subprime ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เศรษฐกิจไทยจะต้องสามารถรับมือกับความเสี่ยงทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยจะต้องเริ่มตระหนักถึงปัญหาการศึกษาวิเคราะห์ความเปราะบางของโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนตลาดเงินและตลาดทุน ภาคธนาคาร ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน รวมไปถึงภาระด้านการคลัง เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม
อีกทั้งการเตรียมความพร้อมของภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านเครื่องมือทางการเงินและแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยง และความผันผวนต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางและระยะยาว
"หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นและลดโอกาสของการเกิดวิกฤติทางการเงินและการเติบโตที่ขาดความสมดุล เพื่อช่วยในการวางนโยบายในการบริหารจัดการความเสี่ยง"ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2550 ในหัวข้อ"การบริหารความเสี่ยงทางการเงินในทศวรรษหน้า"
ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า ในการกำหนดกรอบนโยบายการเงินและระบบการเงิน ธปท.ได้พยายามอย่างดีที่สุดในการที่จะรักษาสมดุลระหว่างการเสริมสร้างประสิทธิภาพของกลไกตลาดกับการปกป้องเสถียรภาพ ของระบบฯ ในกรณีที่กลไกตลาดเองไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศสามารถผ่านพ้นภาวะแห่งตความผันผวนที่ดูเหมือนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นพิเศษในระยะที่ผ่านมา
ในวันนี้ ธปท.ได้สัมมนาทางวิชาการประจำปี 2550 ในหัวข้อ "การบริหารความเสี่ยงทางการเงินในทศวรรษหน้า" โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 800 คน เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ต่อไป
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--