นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริม สินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล (ฮาลาลบอร์ด) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดฮาลาลเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบร่างวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล (1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง) โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศผู้นำในการผลิต การแปรรูป การส่งออกและการพัฒนาสินค้าเกษตร และอาหารฮาลาลที่ได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากล และเข้าสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย โดยใช้หลักศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายในปี 2570
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมฮาลาลมีความสำคัญต่อประเทศไทย เนื่องจากมีศักยภาพในการผลิตสินค้าอาหารและเกษตรอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน และเป็นอันดับ 12 ของโลก และภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรฯ ที่เล็งเห็นโอกาสภายใต้วิกฤติรณ์โควิด 19 ในการเป็นประเทศผู้นำการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาลสู่ตลาดเป้าหมายใหม่กลุ่มประเทศมุสลิม 2,000 ล้านคน และผู้บริโภคสินค้าฮาลาลที่ไม่ใช่มุสลิมทั่วโลก ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และทุกภาคีภาคส่วน
โดยในปี 2563 ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่า 1,533,280 ล้านดอลลาร์ และประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์ ในปี 2569 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์
สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่กำหนด 5 แนวทาง ได้แก่ (1) เพิ่มศักยภาพหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล (2) สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร ด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (3) เสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิต และการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค (4) เพิ่มศักยภาพทางตลาด และโลจิสติกส์ (5) ยกระดับความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
"ร่างวิสัยทัศน์นี้เปรียบเสมือนพิมพ์เขียวฮาลาลไทย (Thailand Halal Blueprint) ฉบับแรกที่มีความสมบูรณ์ ประกอบด้วยเป้าหมาย วิสัยทัศน์ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) เป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดที่สำคัญ ผ่านการดำเนินกิจกรรม และโครงการที่กำหนดในแผนปฏิบัติการ โดยจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป" นายอลงกรณ์ กล่าว
ที่ประชุมฯ ยังมีมติให้เปลี่ยนชื่อและปรับภารกิจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายฯ เป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และนโยบายฯ เพื่อขยายการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลในภาคเหนือภาคอีสานภาคกลางและภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนที่เป็นเมืองท่าหน้าด่านเช่น อุดรธานี เชียงราย ตาก เป็นต้น ส่วนภาคใต้มีอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลภาคใต้รับผิดชอบอยู่แล้วโดยเร่งขับเคลื่อนโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์ AIC เพื่อเป็นฐานการผลิตแปรรูปสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรในการส่งออกไปอาเซียน เอเซียตะวันออก เอเซียใต้เอเซียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรปและอเมริกา
นอกจากนี้ ประเทศไทย เตรียมจัดงานสมัชชาฮาลาลไทยแลนด์ 2021 (Thailand Halal Assembly 2021) ระหว่างวันที่ 2-3 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบ video conference ภายใต้ธีม A Virtual Way for Actual Halal World ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาส และความท้าทายต่ออุตสาหกรรมฮาลาล และการรับรองฮาลาลในยุคหลังโควิด-19
"นับเป็นการขยายบทบาทของไทยในเวทีโลกครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะการแสดงถึงมาตรฐานฮาลาลไทยและการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาล" นายอลงกรณ์ กล่าว