กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน มี.ค.64 มีมูลค่า 24,222.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.47% เมื่อเทียบเดือน มี.ค.63 โดยมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย.61 โดยมีปัจจัยบวกจากการกระจายวัคซีนในวงกว้าง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ และการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัยแล้ว การส่งออกขยายตัว 11.97%เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง
ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,511.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.12% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 710.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ภาพรวมไตรมาส 1/64 การส่งออกมีมูลค่า 64,148.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.27% และการนำเข้ามีมูลค่ารวม 63,632.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 9.37% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 515.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกของไทยยังอยู่เหนือระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยในเดือนมี.ค.64 การส่งออกมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ พ.ย.61 สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
โดยล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 64 ว่าจะขยายตัวที่ 6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.5% เนื่องจากได้แรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการเร่งแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก รวมทั้งคาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยจะปรับตัวดีขึ้น อาทิ สหรัฐฯ (+6.4%) จีน (+8.4%) ญี่ปุ่น (+3.3%) และประเทศในทวีปยุโรป (+4.4%) นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 55.0 สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการนำเข้าสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
"เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกของไทยในเดือนมี.ค. 64 ขยายตัวถึง 11.97% สะท้อนถึงการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ขณะที่ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2564 การส่งออกขยายตัวที่ 2.27% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ ไตรมาสแรกขยายตัวที่ 7.61%" นายภูสิตกล่าว
สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวได้ดี และเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกในเดือนมี.ค.นี้ อันดับแรก คือ เม็ดพลาสติก ขยายตัว 52.9% รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 50.6% เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากถุงมือยาง และยางล้อ อันดับสาม สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 43.1% ซึ่งสินค้าอุตสาหกรรมทั้ง 3 กลุ่มนี้มูลค่าการส่งออกเดือนมี.ค. ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ขณะที่สินค้าเกษตรและอาหาร ที่ยังเติบโตในระดับสูงต่อเนื่อง อันดับแรก คือ ยางพารา มูลค่าการส่งออกขยายตัวถึง 109.2% จากความต้องการใช้ยางพาราที่เพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในการผลิตถุงมือยาง และยางล้อรถ ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามากจากตลาดจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัว รองลงมา คือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 59.2% และอันดับสาม อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 41.4%
ส่วนสำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า สำหรับตลาดส่งออกสำคัญมีทิศทางทีดีขึ้นตามลำดับ โดยหลายตลาดขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป (15) และเอเชียใต้ นอกจากนี้ หลายตลาดส่งสัญญาณฟื้นตัว อาทิ ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ที่กลับมาขยายตัว รวมถึงตะวันออกกลาง (15) และอาเซียน (5) ที่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนมาก
"ปัจจัยที่ช่วยหนุนการส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.นี้ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหญ่ของสหรัฐฯ การกระจายวัคซีนของประเทศต่างๆ ในวงกว้าง ทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นต่อทิศทางเศรษฐกิจ รวมทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันด้วย" นายภูสิตกล่าว
สำหรับการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผู้อำนวยการ สนค. ประเมินว่า การส่งออกในเดือนเม.ย.64 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนมี.ค. ส่วนจะเพิ่มขึ้นในอัตราหลักเดียวหรือสองหลัก ขอให้ติดตามการรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการในเดือนหน้า แต่เชื่อว่าตัวเลขจะเป็นบวกอย่างแน่นอน
ขณะที่แนวโน้มการส่งออกทั้งปี 64 นั้น คาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะทบทวนเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ใหม่ ให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ตั้งเป้าว่าจะขยายตัวได้ 4% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดี จะต้องมีการประชุมหารือในระดับนโยบายระหว่าง รมว.พาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชนผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มต่างๆ ตลอดจนการประชุมของทูตพาณิชย์ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาประมวลเพื่อใช้สำหรับการทบทวนเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง
"ตอนนี้หลายหน่วยงานก็ทบทวนตัวเลขส่งออกของไทยปีนี้ไปแล้ว เช่น แบงก์ชาติ คาด 10%, สภาพัฒน์ คาด 5.8% ส่วนของพาณิชย์เองนั้น มองว่าการส่งออกไตรมาสแรกขยายตัวได้ดี ดังนั้นมุมมองของทั้งปี ก็น่าจะดีและสดใส หากจะทบทวนเป้าหมายใหม่ ก็คาดว่าคงจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 4%" นายภูสิตระบุ
อย่างไรก็ดี การระบาดของไวรัสโควิดในระลอกล่าสุดนี้ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในภาพรวมของไทย เนื่องจากมาตรการของภาครัฐในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไม่ได้มีผลกระทบต่อภาคการผลิต และการขนส่งสินค้าของเอกชนแต่อย่างใด แต่ยังต้องจับตาสถานการณ์ในต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้บางประเทศเริ่มกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะประสานกับผู้ประกอบการส่งออกของไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที หากเกิดปัญหาที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทย
"โควิดรอบสาม ก็ยังไม่มีสัญญาณจะกระทบกับการส่งออกของไทย เพราะนโยบายควบคุมการระบาดของภาครัฐไม่ได้กระทบกับการผลิต หรือการขนส่งสินค้า แรงงาน และกำลังการผลิตในโรงงานยังไม่มีผลกระทบ...ต้องรอดูสถานการณ์จากต่างประเทศด้วย เพราะเริ่มมีการกลับมาล็อกดาวน์ใหม่ แต่หากวัคซีนโควิดกระจายได้ทั่วถึง หลายประเทศก็จะเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจได้ตามเดิม ก็จะสร้างความเชื่อมั่นในการนำเข้าสินค้า เช่นกรณีของสหรัฐฯ ที่มีการสั่งนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น" ผู้อำนวยการ สนค.กล่าว