นายสุรณเดช ธูปะวิโรจน์ วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่ม รฟท.อย่ระหว่างการขายเอกสารประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงินรวม 72,920 ล้านบาท และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม.วงเงินรวม 55,458 ล้านบาท ซึ่งจะใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยประเมินว่าน่าจะมีเอกชนเข้าร่วมประมูล 6 ราย หรือ 6 กลุ่ม ในแต่ละโครงการ
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีทั้งหมด 3 สัญญา จะสิ้นสุดวันขายเอกสารประกวดราคาในวันที่ 17 พ.ค.64 กำหนดยื่นเอกสารรวมทั้งซองเสนอราคาในวันที่ 18 พ.ค.64 โดยจะตรวจข้อเสนอทางเทคนิคก่อนถ้าผ่านจะพิจารณาด้านราคาโดยคัดเลือกผู้เสนอราคาต่ำสุด คาดว่าจะประกาศผู้ชนะการประมูลในวันที่ 8 ก.ค. 64
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ที่มี 2 สัญญา จะสิ้นสุดการขายเอกสารประกวดราคาในวันที่ 24 พ.ค.และยื่นเอกสารประกวดราคาในวันที่ 25 พ.ค.64 และคาดว่าจะประกาศผู้ชนะการประมูลในวันที่ 15 ก.ค.64
นายสุรณเดช กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนักในช่วงนี้ ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการประกวดราคา เพราะยื่นข้อเสนอผ่านระบบออนไลน์ เพราะใช้ระบบ e-bidding ของกรมบัญชีกลาง ส่วนราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นก็ไม่น่ามีผลกระทบมากนักเพราะโครงการรัฐให้เงินชดเชยค่างานก่อสร้าง ตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) หรือ เพิ่มขึ้นหรือลดลง 4% ของราคาที่ยื่นข้อเสนอ แต่หากราคาปรับขึ้นมาสูงกว่า 4% เอกชนก็ต้องรับภาระเอง
โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แบ่งการก่อสร้าง 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ราคากลาง 26,599 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ราคากลาง 26,913 ล้านบาท และ สัญญา 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ราคากลาง 19,406 ล้านบาท
ส่วนโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. จำนวน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ราคากลาง 27,123 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ราคากลาง 28,333 ล้านบาท
สำหรับโครงการงานก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) หรือรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. นายสุรณเดช กล่าวว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ประกอบด้วยบจ.ซิโนไฮโดร, บจ.สหการวิศวกร และ บจ.ทิพากร เป็นผู้ชนะประมูลในวงเงิน 8,626.8 ล้านบาท แต่เอกชนไม่ยืนราคา จึงได้เรียกรายถัดไป คือ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) ซึ่งตกลงในราคายื่นมา 10,570 ล้านบาท และกำลังนำเสนอต่อคณะกรรมการ รฟท.พิจารณาอนุมัติต่อไป