นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือวงเล็กคณะกรรมการวัคซีนทางเลือกว่า เป็นการกำหนดแนวทางบริหารจัดการและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกัยบวัคซีนเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมหารือรับข้อเสนอกับภาคเอกชนคณะใหญ่ในวันที่ 28 เม.ย.
อย่างไรก็ตาม การประชุมวันนี้ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม แต่รัฐบาลได้เตรียมมาตรการต่าง ๆ ไว้แลว โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าจะออกมาในเดือน มิ.ย.64 ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องเร่งการใช้จ่ายงบประมาณของแต่ละกระทรวง โดยใช้เครื่องมือในส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้ ที่ยังอยู่ในกรอบงบประมาณเดิม
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวย้ำว่า มาตรการที่จะนำมาใช้ไม่ได้ใช้งบประมาณมาก แต่เน้นสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่มีเงินฝากจำนวนมากออกมาใช้จ่ายเพื่อช่วยชาติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นมาตรการในลักษณะคนละครึ่ง แต่สิ่งสำคัญวันนี้คือต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าประเทศไทยสามารถควบคุม ดูแลการแพร่ระบาดได้ในระดับที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่น ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างจะค่อยๆ คลี่คลายลงได้
ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์โควิดรอบใหม่ที่มีต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยนั้น มองว่าเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก เพราะการระบาดในรอบนี้ยอมรับว่าน่าเป็นห่วง แต่หากคนไทยทุกคนช่วยกันก็ยังมีโอกาสที่ตัวเลข GDP จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 4% เพราะพบว่าตัวเลขในบัญชีเงินฝากของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งนำออกมาใช้จ่ายช่วยกันบริโภคเพียงแค่ 1 ใน 3 หรือครึ่งนึงของยอดเงินดังกล่าวก็จะมีส่วนช่วยผลักดัน GDP ได้มากถึง 1% จากที่มีหลายสถาบันการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ราว 2.7%
สำหรับแผนเปิดรับนักท่องเที่ยว นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ยังไม่มีการทบทวนในขณะนี้ แต่คงต้องรอดูสถานการณ์ภายในสัปดาห์นี้ที่น่าจะทำให้มองเห็นทิศทางได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งเบื้องต้นยังกำหนดเป็นช่วงเดือน ก.ค.เช่นเดิม
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงแนวทางที่จะมีการเพิ่มหรือยกระดับมาตรการหลังจากที่เคยประเมินว่าภายใน 2 สัปดาห์สถานการณ์จะปรับดีขึ้นนั้น ขณะนี้ยังไม่ครบตามกำหนด 2 สัปดาห์ แต่อยากให้มองว่าแม้จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็ต้องดูในมิติของผู้ที่หายป่วยประกอบกันด้วย เพราะจากข้อมูลเปรียบเทียบย้อนหลัง 14 วัน พบว่า ณ วันนี้ก็มีผู้หายป่วยกว่า 400 คน ถือว่าปรับเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญ ดังนั้น การหาวิธีการดูแลผู้ติดเชื้อในประเภทต่างๆทั้งที่แสดงอาการไม่แสดงอาการ หรือมีอาการรุนแรง ถือเป็นสิ่งสำคัญ