นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมี.ค.64 อยู่ที่ระดับ 87.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.1 ในเดือนก.พ.64 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาคการผลิตรวม
ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์
อย่างไรก็ตาม ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนฯ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป นอกจากนี้ ความคืบหน้าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ จีนและยุโรป ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น
"ดัชนีภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค.ปรับตัวดีขึ้นทุกภาคส่วน หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น มีการผ่อนปรนมาตรการ และมีมาตรการเยียวยาที่ได้ผล โดยจะเห็นได้ว่าการส่งออกมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก" นายสุพันธุ์ กล่าว
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 94.0 จากระดับ 92.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ตลอดจนมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจการค้าโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ มีดังนี้
1. ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ให้ได้โดยเร็ว โดยใช้มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและมีการแพร่ระบาดสูง
2. เร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน
3. สนับสนุนให้เอกชนนำเข้าวัคซีนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว เพื่อช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น
4. ขอให้ภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
5. เร่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
6. เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก ขณะที่ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนนั้น ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า น่าจะเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจราว 1 แสนล้านบาท โดยภาคบริการจะได้รับความเสียหายมาก ขณะที่การบริโภคยังไม่กระเตื้อง ยกเว้นภาคการผลิตเพื่อการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี
"สถานการณ์ค่อนข้างหนักหน่วงและน่ากังวลกว่ารอบแรก หากมีความจำเป็นคงต้องล็อกดาวน์บางพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เศรษฐกิจจะชะลอตัวไปอย่างน้อย 1 เดือน เสียหายราวเดือนละ 1 แสนล้านบาท หากสามารถแก้ปัญหาไม่ให้ยืดเยื้อ แต่ถ้าไม่จบก็เสียหายต่อไป การล็อกดาวน์แม้จะสวนทางกับเศรษฐกิจ แต่หากไม่ทำ เศรษฐกิจอาจจะเสียหายต่อไป" นายสุพันธุ์ กล่าว
"ที่ผ่านมามาตรการช่วยเหลือภาครัฐดีแล้ว เราไม่อยากให้เป็นการเทน้ำลงบนทรายที่เสียเปล่า แต่ถ้ารดไปบนดินก็จะช่วยให้ต้นไม้เติบโต" นายสุพันธุ์ กล่าว