น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม 2564 พบว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2564 ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า และการใช้จ่ายภาคเอกชน ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564 ต่อไป
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัว 15.2% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่18.4% และ 15.6% ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัวที่ 8.1% และ 8.6% ตามลำดับ สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ 12.8% ต่อปี ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 48.5 จากระดับ 49.4 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาครัฐประกาศงดกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงสงกรานต์ รวมถึงผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ยังคงช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.8% ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัวที่ 5.4% สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่กลับมาขยายตัว 26.3% ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัวที่ 0.6% สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 11.4% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่นเดียวกันกับภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัว 17.8% ต่อปี
มูลค่าการส่งออกสินค้าของเดือนมี.ค.64 ขยายตัวจากเดือนก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 24,222 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 8.5% ต่อปี และเมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวที่ 12.0% ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 43.1% และ 50.6% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการส่งออกเม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง 2) สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 109.2% 59.2% และ 41.4% ต่อปี ตามลำดับ 3) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น และ 4) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ที่ยังคงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีน ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันที่ 35.4% ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปสหภาพยุโรป เอเชียใต้ และทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวที่ 32.0% 24.3% และ 16.9% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปตลาดอาเซียน 9 ประเทศ ลดลงเล็กน้อยที่ -0.4% ต่อปี
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2564 กลับมาขยายตัวที่ 4.1% ต่อปี จากการขยายตัวในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ น้ำตาล และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 87.3 จากระดับ 85.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการผลิตกลับมาขยายตัวตามอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว อาทิ กลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนฯ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป
สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนมีนาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 6,737 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร และจีน เป็นต้น ในขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยขยายตัว 71.5%ต่อปี สำหรับภาคเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.6% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก ยางพารา และผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ เช่น สุกร และไก่ เป็นต้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.1% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.1% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 53.2% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 245.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ